ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.ลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรม โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก รพ.สุราษฎร์ธานี นำร่องเป็นต้นแบบจัดซื้อจัดจ้าง ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ 

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก (ระดับตติยภูมิ) โครงสร้างต้านแผ่นดินไหว โรงพยาบาล (รพ.) สุราษฎร์ธานี ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กับผู้ร่วมเสนอราคา และผู้สังเกตการณ์ภาคประชาสังคม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โดยเป็นโครงการนำร่องจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงสาธารณสุขที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ โครงการแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2562 งบประมาณทั้งสิ้น 607,494,000บาท และเป็น 1 ใน 12 โครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของประเทศไทยในปี 2559

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีธรรมาภิบาล เป็นไปตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล ได้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ และยกระดับความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยมีผู้สังเกตการณ์จากภาคประชาสังคม ร่วมตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายต่างๆ ในโครงการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนที่จะเข้าร่วมเสนอราคาโครงการของรัฐ เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ อีกทั้งเป็นการส่งผลต่อการจัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ของประเทศไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ข้อตกลงคุณธรรมเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการและภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาเป็นผู้เสนอราคา ว่าจะไม่กระทำการใดๆ ที่ส่อไปทางทุจริต และยินยอมให้มีบุคคลที่ 3 ที่มาจากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ (Observer) ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มจัดทำร่วมขอบเขตงาน (Terms of Reference: TOR) จนถึงสิ้นสุดสัญญา โดยข้อตกลงคุณธรรมที่กำหนดให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติคือ หน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการฯ จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง แผนการจัดซื้อจัดจ้าง ร่างขอบเขตของงาน (Term of Reference) ที่เว็บไซต์ของหน่วยงาน และเว็บไซต์ e-GP ของกรมบัญชีกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ ปฏิบัติต่อผู้เสนอราคาทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ผู้เข้าร่วมเสนอราคาต้องไม่เสนอการให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันเป็นประโยชน์ในการเสนอราคา

นอกจากนี้ ต้องยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์และตรวจสอบโครงการได้ในทุกขั้นตอน โดยผู้สังเกตการณ์เป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมวิชาชีพ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีความเป็นกลาง ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง มีสิทธิขอข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ และ จะต้องรักษาความลับของข้อมูลเอกสาร