ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.คัดเลือกงานเด่นจากการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 13 สาขา เป็นต้นแบบ “ลดอัตราป่วย อัตราตาย ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย” อาทิ สาขาโรคหัวใจ เขตสุขภาพที่ 2 ให้ยาเพื่อเปิดหลอดเลือดครบ 100 % และการลดระยะเวลารอคอยผ่าตัดหัวใจของเขตสุขภาพที่ 4 จากความร่วมมือโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ช่วยลดคิวผ่าตัดเฉลี่ย 2-6 เดือนในโรงพยาบาลรัฐและ 1-4 สัปดาห์ ในโรงพยาบาลเอกชน

วันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับฟังการสรุปผลการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ครั้งที่ 3 ปี 2559 และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการพัฒนาระบบบริหารจัดการในรูปแบบของเขตสุขภาพและการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชาชนรวม 13 สาขา และเพิ่มเติมอีก 2 สาขา ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศ ระดับเขตสุขภาพ และระดับพื้นที่ มีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเป็นที่ยอบรับ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม สามารถลดอัตราป่วย อัตราตาย ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย ด้วยโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพที่สำคัญลงได้

โดยมีผลงานเชิงประจักษ์ที่แต่ละเขตได้มานำเสนอ รวม 39  เรื่อง อาทิ 

สาขาโรคหัวใจ มีการนำเสนอเครือข่ายพัฒนาระบบสุขภาพเขต 2 สาขาหัวใจ ที่สามารถให้ยาเพื่อเปิดหลอดเลือดครบ 100 % และมีแผนพัฒนาให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คัดกรอง วินิจฉัย ส่งต่อ พร้อมให้ยาแอสไพรินในภาวะที่สงสัยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ เนื่องจากเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1-5 ของเขตสุขภาพ และการลดระยะเวลารอคอยผ่าตัดหัวใจของเขตสุขภาพที่ 4 จากความร่วมมือโรงพยาบาลรัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน ช่วยลดคิวผ่าตัดเฉลี่ย 2-6 เดือนในโรงพยาบาลรัฐส่วนเอกชนเหลือ 1-4 สัปดาห์  

สาขาโรคมะเร็ง นำเสนอการพัฒนาโปรแกรมการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ของเขตสุขภาพที่ 12 ที่ใช้วิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ ก่อนส่งตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลารอคอยและเพิ่มโอกาสในการคัดกรองมะเร็งของประชาชนมากขึ้น  

สาขาทารกแรกเกิด มีการพัฒนาบริการตรวจคัดกรองจอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนดของเขตสุขภาพที่ 7 สามารถคัดกรองความผิดปกติทั้งภาวะสายตาสั้น ตาเข ต้อหิน โดยใช้เครื่องมือถ่ายและส่งภาพปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่ต้องส่งทารกพบผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ได้รับการตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว ช่วยให้สายตาดีขึ้นจนถึงปกติ เป็นต้น

สำหรับการประชุมครั้งนี้ จัดภายใต้แนวคิด “การเชื่อมโยงบริการสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน” เพื่อให้ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานทุกสาขาวิชาชีพ ทุกเขตสุขภาพ กว่า 1,200 คน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จจากผลงานเด่นของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยได้รับเกียรติจากกระทรวงมหาดไทยและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การคัดเลือกผลงานเด่นของแต่ละสาขา เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งการนำปัจจัยแห่งความสำเร็จในแต่ละเขตสุขภาพ แนวทางการแก้ไข แผนการดำเนินงานในปีต่อไป เพื่อนำไปปรับใช้ในเขตสุขภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป