ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานการศึกษาของขนิษฐา ภูสีมุงคุณ เรื่อง “การเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และการบริหารกองทุนของแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมและกองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว” ได้เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ (Benefit packages) และการบริหารกองทุนของแรงงานข้ามชาติ 2 ระบบที่บริหารจัดการโดยภาครัฐ ได้แก่ ระบบประกันสังคม และกองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว โดยใช้สิทธิประโยชน์ของระบบบัตรทองมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปรียบเทียบ (base line) เพื่อค้นหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับระบบสุขภาพแรงงานข้ามชาติทั้ง 2 ระบบ โดยไม่มีข้อจำกัดทางการเงินการคลังหรือข้อจำกัดด้านสถานะบุคคล  ผลการศึกษาพบว่า

ขอบเขตและเงื่อนไขการคุ้มครอง

พบว่าระบบประกันสังคม มีลักษณะการประกันแบบภาคบังคับโดยมีรัฐบาลสนับสนุนบางส่วน ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลต้องร่วมกันจ่ายสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนตามอัตราที่กำหนด ในเรื่องของขอบเขตและเงื่อนไขความคุ้มครองในระบบประกันสังคมค่อนข้างมีเงื่อนไขจำกัด มีการกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนการเกิดสิทธิ เช่น กรณีเจ็บป่วย และกรณีทุพพลภาพต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

เช่นเดียวกันกับกรณีคลอดบุตรต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ก่อนการคลอดบุตร หากผู้ประกันตนเกิดการเจ็บป่วย หรือคลอดบุตรก่อนระยะเวลาที่กำหนด ผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเองหรือซื้อบัตรประกันสุขภาพชั่วคราวจากกระทรวงสาธารณสุข (กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว) แทนในอัตรา 1,000 บาท (ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 500 บาท) ซึ่งกรณีเช่นนี้ทำให้เกิดการจ่ายเงินซ้ำซ้อน และหากขาดการจ่ายเงินสมทบติดต่อกัน 3 เดือน สิทธินั้นถือเป็นอันสิ้นสุดทันที

สำหรับการประกันสุขภาพของกองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว มีลักษณะเป็นแบบภาคบังคับ ผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเงินซื้อบัตรประกันสุขภาพรวมค่าตรวจสุขภาพ ในอัตรา 1,000-3,700 บาท ตามระยะเวลาความคุ้มครอง (แบบปีต่อปี หรือแบบ 2 ปีต่อครั้ง หรือราย 6 เดือน หรือราย 3 เดือน) ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี บัตรราคา 365 บาทต่อปี และราคา 730 บาทต่อ 2 ปี และต้องผ่านการตรวจสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก่อน ยกเว้นกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปี ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพแล้ว และความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อผู้ประกันตนนั้นเสียชีวิต หรืออายุความคุ้มครองของบัตรประกันสุขภาพนั้นหมดลงแล้วและไม่ได้ซื้อบัตรประกันสุขภาพต่อ หรือได้รับสิทธิประกันสังคมแล้ว และหากผู้ประกันตนเข้ารับบริการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการต้องร่วมจ่ายครั้งละ 30 บาท

ในขณะที่ ระบบบัตรทองไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเนื่องจากระบบรัฐสวัสดิการ รัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ หรือผู้มีสิทธิสามารถร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ครั้งละ 30 บาท แต่เป็นไปโดยความสมัครใจเฉพาะในกรณีที่มีการจ่ายยาเท่านั้น และสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และสิทธิจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อผู้มีสิทธินั้นได้รับการคุ้มครองจากสิทธิอื่นของรัฐแล้ว

สิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน

พบว่าสิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ที่แตกต่างกันระหว่างระบบประกันสังคม กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว และระบบบัตรทองมีสิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน19 รายการ ได้แก่ ค่าห้องพยาบาลพิเศษ, จำนวนครั้งการคลอดบุตร, การช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการและให้บริการ (มาตรา 41), การปลูกถ่ายอวัยวะ, การปลูกถ่ายไขกระดูกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง, การปลูกถ่ายไต, ไตวาย, ยาต้านไวรัสโรคเอดส์เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังสัมผัส, โรคหรือประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด, กรณีอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน, โรคทางจิตเวช, รากฟันเทียม, ฟันเทียม,การบริการรักษาตัวแบบพักฟื้นและบริการหลังผู้ป่วยกลับบ้าน,การฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์หลังสิ้นสุดการรักษา (นอกโรงพยาบาล),การบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก,การส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าทางอากาศยาน,ค่าพาหนะรับส่งต่อระหว่างหน่วยบริการทางเรือ,ยาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและมีปัญหาการเข้าถึง ซึ่งสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลทั้ง 19 รายการนี้ ระบบบัตรทองให้ความคุ้มครองกว่า 17รายการ ยกเว้นค่าห้องพยาบาลพิเศษ การรักษารากฟันเทียม ที่ระบบประกันสังคมมีแต่ระบบบัตรทองไม่มี

สำหรับระบบประกันสังคมให้ความคุ้มครอง 13 รายการ ยกเว้น การปลูกถ่ายไขกระดูกในกรณีที่ผู้ประกันตนป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อนเข้าเป็นผู้ประกันตน, ยาต้านไวรัสโรคเอดส์เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังสัมผัสกรณีติดเชื้อระหว่างการปฏิบัติงาน เช่น แพทย์ พยาบาล ส่วนกรณีการติดเชื้อภายหลังสัมผัสจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ดำเนินการผ่าน สปสช. แทน, การบริการรักษาตัวแบบพักฟื้นและบริการหลังผู้ป่วยกลับบ้าน, การฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์หลังสิ้นสุดการรักษา (นอกโรงพยาบาล), การส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าทางอากาศยาน และการช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ (มาตรา 41) ซึ่งระบบประกันสังคมคุ้มครองเฉพาะผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการเท่านั้น โดยสิทธิประโยชน์ทั้ง 6 รายการนี้ระบบบัตรทองมีแต่ระบบประกันสังคมไม่มี

ในขณะที่ กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าวใน 19 รายการนี้ พบว่ามีเพียง 2 รายการเท่านั้นที่ให้ความคุ้มครองกับผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติระบบ ได้แก่ การประสบอันตรายหรือการทุพพลภาพเกิดขึ้นเพราะบุคคลดังกล่าวจูงใจให้เกิดการบริการรักษาตัวแบบพักฟื้นและบริการหลังผู้ป่วยกลับบ้าน ยังมีสิทธิประโยชน์อีกหลายรายการซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญๆ เช่น บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง, โรคทางจิตเวช, ยาราคาแพง, การช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการและให้บริการ (มาตรา 41), ทันตกรรมฟันเทียมและรากฟันเทียม, โรคหรือประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด, การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น

สิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ที่เหมือนกัน แต่การบริหารจัดการแตกต่างกัน

ในด้านสิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ที่เหมือนกัน แต่การบริหารจัดการแตกต่างกัน ระหว่างระบบประกันสังคม กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว และระบบบัตรทอง พบว่ามีสิทธิประโยชน์ จำนวน 27 รายการ ที่ทั้ง 3 ระบบมีให้กับผู้มีสิทธิหรือผู้ประกันตนในระบบเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่วิธีบริหารจัดการ ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค, การคลอดบุตร, อุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดโรค, โรคเดียวกันที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน ใน 1 ปี, การประสบอันตรายหรือการทุพพลภาพเกิดขึ้นเพราะบุคคลดังกล่าวจูงใจให้เกิด, ทันตกรรม, ค่าพาหนะรับส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ, บริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ (HIV/AIDS), ไตวาย, โรคหัวใจ (Heart diseases), การผ่าตัดสมอง, การให้เคมีบำบัดหรือฮอร์โมนหรือรังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง, การวางแผนครอบครัว, การผ่าตัดต้อกระจก, โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย (Hemophilia), โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Stroke fast track), โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดที่มีการยกขึ้นของคลื่นไฟฟ้าหัวใจส่วน ST (Acute ST-Elevated Myocardial Infection Fast Tract), โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ, โรคหืด (Asthma) และผู้ป่วยโรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง (COPD), โรควัณโรค, โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง, การรักษาผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอประสาทตาด้วยวิธีเลเซอร์ (Laser project diabetic retinopathy), การรักษาด้วยออกซิเจนความกดดันสูง (Hyperbaric oxygen therapy) เฉพาะเพื่อการรักษาโรคที่เกิดจากการดำน้ำ (Decompression sickness), คลินิกอดบุหรี่, การให้ยามอร์ฟีนสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย, ยาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและมีปัญหาการเข้าถึง, การทุพพลภาพ ซึ่งวิธีบริหารจัดการที่ต่างกันอาจส่งผลต่อการเข้าถึงบริการ และคุณภาพการให้บริการของหน่วยบริการที่แตกต่างกัน เพราะกลวิธีในการจัดการย่อมสร้างแรงจูงใจในการให้บริการ หรือไม่ให้บริการกับผู้ป่วยได้

โดยพบว่าในระบบบัตรทองมีกว่า 20 รายการที่มีการบริหารจัดการเฉพาะทำให้ผู้ป่วยได้รับคุณภาพการรักษาที่ดีและสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน เช่น โรคค่าใช้จ่ายสูง ได้แก่ โรคมะเร็ง ฮีโมฟิเลีย วัณโรค โรคหัวใจ ไตวาย โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ ยาต้านไวรัสเอดส์ รวมถึงระบบบริหารจัดการยาที่มีราคาแพงและมีปัญหาในการเข้าถึงอีก 20 รายการ เช่น ยารักษาผู้ป่วยจิตเวช RisperidoneSertaline ยารักษามะเร็ง Rituximab ยาราคาแพงในบัญชี จ (2) เป็นต้น

สำหรับระบบประกันสังคม มีสิทธิประโยชน์ที่มีการจัดการเฉพาะและมีวิธีการจ่ายเงินชดเชยที่ละเอียด ได้แก่ การคลอดบุตร การผ่าตัดสมอง การผ่าตัดหัวใจ โรคเดียวกันที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน ใน 1 ปี และการทุพพลภาพ นอกจากนั้นยังมีการบริหารจัดการเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาราคาแพงในบัญชี จ (2)

ในขณะที่ กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าวโดยภาพรวมแล้วยังไม่มีระบบบริหารจัดการเฉพาะสำหรับโรคที่เป็นปัญหาราคาแพง และมีปัญหาในการเข้าถึง เช่น ยาราคาแพง การรักษาผู้ป่วยโรคไตวาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการที่ได้

จากการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ (Benefit packages) และการบริหารกองทุนของแรงงานข้ามชาติทั้ง 2 ระบบ เห็นได้ชัดว่ากองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าวหากเทียบกับระบบบัตรทอง และระบบประกันสังคมแล้วจำเป็นต้องเร่งพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติในระบบนี้เป็นอย่างมาก รวมไปถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการเฉพาะให้ผู้ป่วยได้รับคุณภาพการรักษาที่ดีและสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบสุขภาพ

ตอนต่อไป (จบ) ติดตาม รูปแบบการให้บริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ค่าใช้จ่ายสุขภาพของประชากรข้ามชาติใน 31 จังหวัดชายแดนไทย

ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติในไทย

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายสุขภาพประชากรข้ามชาติในไทย

การบริหารกองทุนสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

เรียบเรียงจาก

ขนิษฐา ภูสีมุงคุณ. (รายงาน) “การเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และการบริหารกองทุนของแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมและกองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว” ส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ โครงการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ, มิถุนายน 2559.