ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขเร่ง สธ. ออกหนังสือสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรให้ รพ.สต.เบิกงบได้ 100% หวั่นแม้มีนโยบายแล้วแต่บาง สสจ.อาจเล่นแง่หากไม่มีหนังสืออย่างเป็นทางการ

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ชวส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวง, นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง, ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมาย และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทน ได้มีการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการของ สธ. ฉบับที่ 11 และ 12 (ฉ.11 และ 12) ซึ่งทางผู้บริหารกระทรวงได้ตอบข้อซักถามและเกิดความชัดเจนในหลายเป็นเด็น

นายริซกี กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น 1.นิยามเจ้าพนักงาน (จพ.) วุฒิปริญญาตรี สรุปว่า นิยามเดิมตามหนังสือเวียน ว.261 ซึ่งอ้างอิงจาก ฉบับ 8 ได้สิ้นสุดไปแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำประกาศฉบับใหม่ที่อ้างอิงตาม ฉบับ 11 นอกจากนี้ ยังมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการนับเวลาเกื้อกูล ซึ่งกลุ่มงานกฎหมายตีความว่าสามารถนับเวลาเกื้อกูลได้ตั้งแต่เริ่มทำงาน ซึ่งก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการ

"เรื่อง จพ.วุฒิ ป.ตรี ถึงช่องจะเปิด แต่ในบางพื้นที่ยังมีปัญหาอยู่ เราก็อยากตามว่าหนังสือที่จะมาแทน ว.261 อยากให้ออกมาโดยด่วน เพราะขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มเบิกจ่ายแล้ว" นายริซกี กล่าว

2.นิยามการบริการผู้ป่วยว่าครอบคลุมกลุ่มไหนบ้าง ซึ่งจากการประชุมได้ความชัดเจนว่าครอบคลุมเจ้าหน้าที่ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายคาบ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ยกเว้นลูกจ้างเหมาจ่ายซึ่งในระเบียบไม่ได้กำหนดไว้ โดยทางกระทรวงจะให้แต่ละพื้นที่ไปกำหนด ซึ่งหลังจากนี้ในแต่ละพื้นที่ต้องไปนิยามว่าใครมีสิทธิได้บ้าง หรือว่าใครที่บริการผู้ป่วยบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่ม Back Office ถ้าอยู่ในกลุ่มที่บริการผู้ป่วย ก็มีสิทธิ์จะได้รับค่าตอบแทน

อย่างไรก็ดี ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและต้องติดตามกันต่อไป เช่น  ที่ประชุมระบุว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เบิกงบประมาณได้ 100% แต่ที่ยังห่วงคือในทางปฏิบัติ บางจังหวัดไปตีความว่าเป็นอำนาจ สสจ. ที่จะตีความว่าได้ 100% หรือไม่ ซึ่งบางจังหวัดอาจเล่นแง่ว่าไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเป็นข้อสั่งการในการนำเสนอตามเวทีต่างๆ ของผู้บริหารกระทรวง

"สมมุติอำเภอหนึ่งของบ 10 ล้าน รพ.สต. 2 ล้าน โรงพยาบาลได้ 8 ล้าน แต่งบที่มาจริงอาจจะมา 7 ล้าน ซึ่งที่ผ่านมาใช้วิธีหารครึ่ง เช่น ได้ 7 ล้าน โรงพยาบาลก็ได้ 5 เดือน รพ.สต.ก็ได้ 5 เดือน ทั้งที่วงเงินของ รพ.สต.ใช้น้อยมาก แต่ไปหารเฉลี่ยเท่ากัน กลายเป็นว่าอีก 7 เดือน รพ.สต.ต้องไปใช้เงินบำรุง แต่ถ้าเบิกได้ 100% รพ.สต.ต้องได้ 2 ล้าน อีก 5 ล้านโรงพยาบาลเอาไปบริหารจัดการ เนื่องจากโรงพยาบาลมีรายได้งบประมาณสนับสนุนหมวดอื่นอยู่มากมาย ขณะที่ รพ.สต.ไม่มีงบสนับสนุนเช่นโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อผู้บริหารกระทรวงได้ชี้แจงในเวทีสาธารณะหลายแห่งว่า รพ.สต.ต้องได้ 100% เราก็ต้องไปเร่งติดตามให้ออกหนังสืออย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้ตีความวุ่นวาย" นายริซกี กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนแก่บุคลากรที่ทำงานในกลุ่ม สสอ. สสจ. เนื่องจากในนิยาม ฉ.11  ระบุว่าให้เฉพาะผู้อยู่ในหน่วยบริการ แต่ สสอ. สสจ. ยังติดในขั้นตอนแก้ไขระเบียบเงินบำรุงที่กระทรวงการคลัง ขณะที่สมาชิก ชวส. ส่วนใหญ่ที่อยู่ สสอ. สสจ.หลายคนน้อยใจ เพราะมีความแตกต่างกันชัด อย่างกลุ่ม รพ.สต.ได้ถึง 4,500 บาท แต่ สสอ. สสจ. ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับ รพ.สต. ไม่ได้สักบาท

"ก็อยากให้แก้ระเบียบหน่วยบริการของ สสอ. สสจ. ให้ผ่าน เพราะถ้าพิจารณาดู กลุ่ม Back Office ที่ไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยโดยตรงยังได้ แต่ สสอ. สสจ. ให้บริการผู้ป่วย ลงพื้นที่ทำงานเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรค งานคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ แต่ไปติดแค่คำว่าหน่วยบริการ ซึ่งถ้ารอบนี้แก้ระเบียบไม่ทัน ก็อยากให้ทำแบบ ฉ.10 ชายแดนใต้ ที่หน่วยงาน สสจ. หน่วยมาลาเรีย วสส. วพบ. ศูนย์อนามัย และหน่วยอื่นๆ ในชายแดนใต้ ยังได้ค่าตอบแทนได้ แม้มิใช่หน่วยบริการ จึงอยากให้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกหนังสือประกาศแนบท้ายเพิ่มเติม ฉ.11 ให้ครอบคลุม สสอ. สสจ. ด้วย” นายริซกี กล่าว