ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ พบ โรงพยาบาลภูเก็ตบางแห่งไม่ยอมให้ลูกชาวพม่าแจ้งเกิด เรียกเอกสารเกินความจำเป็น ส่งผลให้กลายเป็นเด็กเถื่อน-ไร้สถานะบุคคล เสนอให้คนไทยยอมรับการอยู่ร่วมกัน แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาป้องกันไม่ให้บานปลาย

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติจังหวัดภูเก็ต (Migrant Worker’s Network in Phuket : MNP) ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ 5 องค์กร ใน จ.ภูเก็ต ร่วมกันเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2560 บริเวณซอยการเคหะฯ ภูเก็ต 2ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือแรงงานชาวพม่ากว่า 3.5 แสนราย ที่ใช้ชีวิตอยู่ใน จ.ภูเก็ต ประเทศไทย

เจ้าหน้าที่ MNP เปิดเผยกับสำนักข่าว Hfocus ว่า ที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติชาวพม่ามีปัญหาเรื่องการคลอดบุตรเป็นจำนวนมาก โดยปกติแรงงานจะซื้อบัตรประกันสุขภาพ 1,500 บาท ซึ่งจะครอบคลุมสิทธิประโยชน์คลอดบุตร และดูแลรักษาบุตรในระยะเวลา 28 วันแรก แต่กลับพบว่าที่ผ่านมามีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ไม่ยินยอมให้แรงงานใช้สิทธิดังกล่าว ทั้งๆ ที่มีบัตรประกันสุขภาพถูกต้อง ส่งผลให้แรงงานบางส่วนไม่มีเงินจ่ายค่าคลอดบุตร

เจ้าหน้าที่รายนี้ กล่าวว่า เมื่อแรงงานชาวพม่าไม่เงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล ก็จะถูกโรงพยาบาลโดยฝ่ายสังคมสงเคราะห์บันทึกปากคำ จากนั้นก็จะส่งตัวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคนเข้าเมืองเพื่อผลักดันกลับประเทศ ซึ่งมีหลายครอบครัวที่แม่และลูกถูกส่งกลับประเทศในขณะที่พ่อยังทำงานในประเทศไทยต่อไป ซึ่งเท่ากับเป็นการพรากครอบครัวจนสาแหรกขาด

เจ้าหน้าที่รายนี้ กล่าวอีกว่า อีกปัญหาหนึ่งก็คือบางโรงพยาบาลไม่ยินยอมให้แจ้งเกิดเด็กที่เป็นลูกของแรงงานพม่า หรือเรียกร้องเอกสารที่เกินกว่าราชการกำหนด เช่น ต้องมีหลักฐานจากนายจ้าง หรือให้นายจ้างมาเป็นผู้แจ้งเกิด ซึ่งข้อเท็จจริงคือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ส่งผลให้เด็กเหล่านั้นไม่มีสถานะบุคคลคือไม่มีตัวตนทั้งในประเทศไทย และก็ไม่สามารถกลับประเทศพม่าได้ด้วยเช่นกัน

“ถ้าแจ้งเกิดได้ อย่างน้อยก็ชัดเจนว่าเป็นลูกของชาวพม่า ซึ่งประเทศพม่าก็จะยอมรับ แต่พอแจ้งเกิดไม่ได้ เด็กก็จะไม่มีตัวตนและไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ ซึ่งกระทบต่อการเข้ารับการศึกษา สถานะบุคคล การทำหนังสือเดินทาง การอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย และจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตต่อไป”เจ้าหน้าที่รายนี้ ระบุ

เขา กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว มีชาวพม่าคลอดบุตรเดือนละ 50-60 คน แต่ใน จ.ภูเก็ต มีโรงพยาบาลให้บริการ 3แห่ง และไม่นับชาวพม่าที่คลอดบุตรเองตามบ้านเรือน นั่นเท่ากับจากมีเด็กที่เกิดจากครอบครัวชาวพม่าเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นส่วนตัวคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรเข้ามาดูแลในเรื่องสถานะบุคคลเป็นการเร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อไป

เจ้าหน้าที่รายเดียวกันนี้ กล่าวว่า ใน จ.ภูเก็ต ยังขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของภาคประมง และก่อสร้างกรรมกร ซึ่งเป็นการใช้แรงงานเข้มข้น จากการเก็บข้อมูลพบว่าใน จ.ภูเก็ต เพียงแห่งเดียวมีชาวพม่าทั้งถูกและผิดกฎหมายอยู่ไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนราย และธุรกิจไทยก็ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานพม่าอยู่ ฉะนั้นคิดว่าทุกฝ่ายอาจต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และลดอคติกับแรงงานข้ามชาติลง

“ขณะนี้โลกไปไกลแล้ว และแรงงานพม่าก็อยู่กับประเทศไทยมากว่าค่อนชีวิต จึงควรยอมรับความจริงข้อนี้ และมองกันที่ความเป็นมนุษย์ คือแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานก็เป็นมนุษย์ และเขาเหล่านั้นก็มีทั้งสิทธิและหน้าที่ ขณะที่ตัวแรงงานเองก็ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วยว่าตัวเองมีหน้าที่อะไรในประเทศไทย ซึ่งหากร่วมกันแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจังก็จะช่วยลดปัญหาในประเทศไทยลงด้วย ส่วนตัวคิดว่าหากโรงพยาบาลรัฐหรือภาครัฐไม่พร้อมให้การดูแลสวัสดิการพยาบาลแรงงานข้ามชาติ ก็น่าจะเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งจากการพูดคุยกับภาคเอกชนก็พบว่าหลายแห่งมีความต้องการดูแล เพราะคุ้มค่าและแรงงานมีจำนวนมาก”เจ้าหน้าที่MNP ระบุ