ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” พิจารณาเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเร่งให้ทันใช้ใน เม.ย.นี้

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้านโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เร่งรัดให้นโยบายนี้ดำเนินการได้จริง ภายในเดือนเมษายน 2560 นี้ โดยในวันนี้ (27 ก.พ.) ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้ไขปัญหาทั้งในเรื่อง คำจำกัดความ ภาวะวิกฤตฉุกเฉิน ที่ประชาชนยังเข้าใจไม่ตรงกัน การกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และการดำเนินการส่งต่อหลัง 72 ชั่วโมง โดยจะดำเนินการ ดังนี้

1.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับคำจำกัดความภาวะฉุกเฉินวิกฤต เพื่อให้มีอำนาจในการควบคุม

2.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ กติกาในการดูแลรักษาผู้ป่วยและการส่งต่อผู้ป่วย ภายหลัง 72 ชั่วโมง ซึ่งทั้ง 2 ฉบับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สามารถออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้

3.ออกกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งเดิมใช้ในลักษณะเหมาจ่าย และทางภาคเอกชนบอกว่าราคาต่ำเกินไป ได้เปลี่ยนเป็นการกำหนดราคากลางตามรายการที่ใช้จริง เช่น ค่าเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ค่ายา ค่าให้อาหารทางเส้นเลือด เป็นต้น ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย การปฏิเสธการรักษา

“กระทรวงสาธารณสุข จะเอารายการราคากลางทั้งหมดที่จัดทำขึ้น ส่งให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดพิจารณา โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วยผู้แทน 3 กองทุน หน่วยงานกลาง กองทุนอื่น ๆ รวมทั้งภาคเอกชน เข้ามาประชุมเชิงปฏิบัติการ รายการใดที่เป็นปัญหา จะได้หารือในรายละเอียดร่วมกัน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า น่าจะตกลงกันได้ เพื่อให้นโยบายนี้เดินหน้าไปได้ พร้อมประกาศใช้ทันเทศกาลสงกรานต์ปีนี้” นพ.โสภณ กล่าว