ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมออิทธพร” หนุนจัดระบบรองรับผู้พิการ/เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถฉุกเฉิน ชี้อย่างน้อยที่สุดไม่อยากให้ปลดออกจากราชการจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษาและมีเงินช่วยเหลือไม่ให้ครอบครัวเดือดร้อน ส่วนระยะยาวต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง จัดเทรนขับรถในภาวะฉุกเฉิน ทบทวนซ้อมแนวทางปฏิบัติขณะเกิดอุบัติเหตุ และมี Ambulance Accredit รับรองความปลอดภัยของยานพาหนะ ตลอดจนวิเคราะห์อุบัติเหตุเพื่อป้องกันทุกครั้ง

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า จากงานวิจัยของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดย นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย สรุปข้อมูลปัญหารถพยาบาลประสบอุบัติเหตุในปี 2557 พบว่าเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 61 ครั้ง บาดเจ็บ 130 คน เสียชีวิต 19 คน ซึ่งเป็นการเกิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ นำไปสู่การบาดเจ็บทุพพลภาพหรือเสียชีวิตของพยาบาลและเจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ ในส่วนของผู้ที่ต้องช่วยเหลือคนอื่นจนตัวเองประสบอุบัติเหตุโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรมีการปรับระเบียบหรือมีมาตรการบางอย่างช่วยเหลือรองรับ โดยยึดหลักนิติธรรมมากกว่านิติรัฐ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวแบ่งเป็น 2 กรณีคือ

1.กรณีทุพพลภาพจนไม่สามารถทำงานต่อได้ มีหลายรายที่เมื่อประสบอุบัติเหตุจนทำงานไม่ได้ เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็จำเป็นต้องออกจากราชการตามระเบียบ ทำให้เกิดปัญหาจากเดิมที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการอยู่ ต้องเปลี่ยนไปใช้สิทธิอื่นๆ เช่น หลักประกันสุขภาพหรือประกันสุขภาพในลักษณะอื่นๆ แทน กรณีเช่นนี้ หากผู้ป่วยถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ใช้สิทธิได้ หรือเป็นโรคที่สิทธิใหม่รองรับก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่หากต้องมีการรักษาต่อเนื่อง ควรต้องคงสิทธิเดิมเอาไว้จนกว่าการรักษาจะสิ้นสุด ไม่ใช่ครบกำหนดแล้วใช้กฎหมายปลดออกจากราชการตามระเบียบเลย ซึ่งทราบว่าหลายรายทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแลอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เมื่อกลายเป็นผู้พิการก็ควรต้องมีการดูแลสวัสดิการ เพราะส่วนใหญ่พยาบาลที่ประสบอุบัติเหตุมักมีอายุน้อย เงินเดือนยังน้อย เมื่อต้องออกจากราชการก็จะได้เงินบำเหน็จไม่มาก และบางรายก็ไม่สามารถไปทำงานอื่นต่อได้อีก ดังนั้นอาจต้องพิจารณาว่าช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดควรมีเงินช่วยเหลือให้มีชีวิตอยู่รอดได้ และทำให้สถานะครอบครัวไม่ถึงกับตกต่ำหรืออับจน แบบเป็นทางการ

2.กรณีเสียชีวิตในหน้าที่ ควรต้องพิจารณาสิทธิพิเศษเพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ผู้ที่ไปทำภารกิจเสี่ยงภัย เช่น อาจมีบำเหน็จบำนาญหรือมีสิทธิประโยชน์พิเศษบางอย่าง เนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีภาระเลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัว หากประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต จะสร้างผลกระทบจนอาจจะทำให้ครอบครัวพังทลาย อาจดูตัวอย่างจากตำรวจ ทหารที่เสียชีวิตในหน้าที่ได้

“จากประสบการณ์จริงที่เคยเจอ มีน้องคนหนึ่งเสียชีวิต แต่คุณแม่ของน้องก็ป่วยเป็นอัมพาตรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลโดยใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เมื่อน้องเสียชีวิต สิทธิการรักษาของแม่ก็หมด ต้องย้ายตามสิทธิที่รักษาและเกิดความลำบาก ที่ผมยกกรณีเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้คนเหล่านี้มีอภิสิทธิ์ แต่อย่างน้อยควรตอบแทนสิ่งที่เขาทำความดีให้สังคมบ้าง ควรให้มีสิทธิต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับสิ่งที่ผู้เสียชีวิตรับผิดชอบอยู่” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว

รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวอีกว่า กลไกที่เสนอความเห็นเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่ารัฐต้องเข้าไปอุ้มทั้งหมด แต่อาจมีกระบวนการต่างๆ เช่น จัดระบบให้มีประกันเอกชน หรือการออมในลักษณะประกัน หรืออาจเป็นในรูปของประกันที่รัฐหรือหน่วยงานต้นสังกัดจัดให้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น ตำรวจ ทหารมีเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือเงินอื่นๆ ที่แยกต่างหากเพื่อใช้ช่วยเหลือในเวลาฉุกเฉิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยส่วนตัวอยากให้มองย้อนไปที่ต้นเหตุและหาทางป้องกัน ซึ่งองค์ประกอบของอุบัติเหตุ ประกอบจะไปด้วย 1.คนขับ 2.สภาพรถ และ 3.บุคคลที่ 3

“ในส่วนของคนขับ ควรต้องตรวจสอบว่าเราได้ดูแลเขาดีหรือไม่ อยู่เวรดึกไปหรือไม่ ได้รับการพักผ่อนดีหรือไม่ วุฒิภาวะ มารยาทการขับขี่และการตัดสินใจเป็นอย่างไร รวมถึงเทคนิคการขับขี่ซึ่งน่าจะมีการฝึกอบรมการควบคุมรถในภาวะฉุกเฉิน ว่า เมื่อเกิดเหตุในแต่ละลักษณะควรทำอย่างไร เหยียบเบรกอย่างไร มีรถปรี่เข้ามาจะหลบซ้ายหลบขวาอย่างไรจึงปลอดภัย ซึ่งทราบทาง สธ.และ สพฉ.เริ่มทำแล้วแต่ยังไม่ครอบคลุม และควรจัดให้มีทบทวนเป็นระยะ” รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของรถ ก็ควรมีมาตรฐานการตรวจสอบความพร้อม การบำรุงรักษาระบบต่างๆ ว่าพร้อมแค่ไหน เรามีมาตรฐาน HA ของโรงพยาบาลแล้ว เราควรมี Ambulance Accredit หรือไม่ หรือ Accredit ทั้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน จาก สพฉ.ไปเลย เพื่อรับรองว่ารถฉุกเฉินและระบบฉุกเฉินมีมาตรฐานและความปลอดภัย เพราะในชีวิตจริง รถพยาบาลมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่รถตู้นานาสภาพไปจนถึงรถปิคอัพ ซึ่งอุปกรณ์ความปลอดภัยมีความแตกต่างกัน

นอกจากนี้ ในส่วนของบุคคลที่ 3 เช่น พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ไปกับรถฉุกเฉิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับกระบวนการฝึกอบรมแนวทางปฏิบัติตัวกรณีเกิดอุบัติเหตุ เช่น ถ้ารถชนแล้วต้องทำอย่างไร รถไฟไหม้จะหาอุปกรณ์ดับเพลิงที่ไหน ถ้ารถตกน้ำจะหาค้อนทุบกระจกที่ไหน ที่สำคัญเมื่อเอาตัวเองรอดแล้ว จะนำผู้ป่วยออกจากรถได้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ทาง สพฉ.ได้เคยมีงานวิจัยเมื่อปี 2558 และเสนอแนะไว้เป็นแนวทางที่ดีมาก

“พอเตรียมเรื่องเหล่านี้แล้ว หลังจากนั้นค่อยไป Awareness กับสังคมว่าช่วยระวัง ช่วยหลบรถพยาบาลนะ ไม่ใช่ไปเริ่มต้นที่คนอื่น จริงๆ ต้องเริ่มที่พวกเราก่อนเลย อุบัติเหตุในบางกรณีมักเกิดร่วมจากหลายปัจจัย ถ้าเราป้องกันปัญหาในสิ่งที่เราควบคุมได้ก่อน โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็จะลดลง แต่ถ้าทำทั้งหมดนี้แล้วก็ยังเกิดเหตุสุดวิสัย แบบนั้นคงต้องรับสภาพและไปดู แลผู้ประสบอุบัติเหตุเป็นขั้นต่อไป ซึ่งกรณีนี้เราพูดถึงแต่บุคลากร แต่เรายังไม่ได้พูดถึงญาติคนไข้ที่นั่งไปด้วยว่าจะดูแลอย่างไร หรือหากคนไข้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะมีการช่วยเหลืออย่างไร” รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าว

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร ย้ำว่าปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดกับรถพยาบาลอยากให้มองทั้งระบบ ไม่อยากให้ทำแบบไฟไหม้ฟางหรือช่วยเหลือเป็นรายกรณี เริ่มต้นที่ทุกฝ่ายต้องขานรับก่อนว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา รวบรวมข้อมูล สถิติ วิเคราะห์ แบบงานวิจัย ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาในวันสองวัน แต่ค่อยๆ พัฒนาโดยที่ทุกฝ่ายเห็นปัญหาร่วมกัน ร่วมมือร่วมใจก็จะสำเร็จได้ในที่สุด

“แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็น่าเสียดายที่จะสูญเสียไปคนแล้วคนเล่า ตอนนี้ไปเสิร์จคำว่าอุบัติเหตุรถพยาบาลในGoogle จะพบว่ามีภาพเต็มไปหมด คนเหล่านี้มีคุณค่ามากที่เราต้องเร่งป้องกัน เขามีศักยภาพในการช่วยเหลือชีวิตคนอื่นได้ในอนาคต พยาบาลคนหนึ่งตลอดช่วงชีวิตเขาต้องดูแลคนไข้เป็นแสน ถ้าเสียชีวิตหรือพิการไป 1 คน ก็หมายถึงการเสียโอกาสของระบบสาธารณสุขในการดูแลคนไข้จำนวนมาก คนทำงานในภาครัฐต่างเสียสละทำงานหนัก ผลตอบแทนน้อยกว่าภาคเอกชน อยู่บนความขาดแคลนอยู่แล้ว หากดูแลให้ขวัญและกำลังใจที่ดีได้ ย่อมทำให้เขามีความสุขกับงานและทำงานได้ยั่งยืนยิ่งขึ้น” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

‘5 ปีใน รพ.’ ชีวิตพยาบาลแม่สอด หลังรถฉุกเฉินคว่ำจนพิการ

จี้ สธ.เพิ่มอายุราชการทวีคูณให้พยาบาลที่ทุพพลภาพจากการทำงาน

จี้รัฐจัดระบบช่วยเหลือพยาบาลพิการจากงาน ชี้แรงงานข้ามชาติยังได้สิทธิมากกว่า

สำนักการพยาบาลชงเรื่องตั้งกองทุนเยียวยาช่วยพยาบาลเสียชีวิต/พิการขณะปฏิบัติหน้าที่

เล็งตั้งกองทุนเยียวยาพยาบาลพิการ/เสียชีวิต ย้ำแค่ช่วยเบื้องต้น สธ.ต้องดูแลระยะยาว