ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมคลินิกหมอครอบครัวคลองศาลา จัดบริการแบบ One stop service ทำให้ระยะเวลารอคอยน้อยกว่าเวลารอคอยในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ประชาชนพึงพอใจ กว่าร้อยละ 91 ยกระดับคุณภาพประสิทธิภาพการบริการ

นพ.โสภณ เมฆธน

วันนี้ (20 กรกฎาคม 2560) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัวคลองศาลา (PCC คลองศาลา) อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ พัฒนางานคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster หรือ PCC) โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมกันเป็นเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ เพิ่มแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเข้าไปเติมเต็ม ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพที่มีอยู่ทั้งหมดในระบบ และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสุขภาพ โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิในเขตเมืองบางพื้นที่การเข้าถึงบริการในโรคพื้นฐานทั่วไปค่อนข้างยากลำบาก รวมทั้งให้บริการประชาชนในเขตชนบทได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานบริการในรูปแบบของการบริการใกล้บ้านใกล้ใจแบบองค์รวม ครบทุกมิติ เน้น “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง และทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี”มุ่งสู่ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับ PCC คลองศาลา ของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เป็นการบริหารแบบเขตเมือง ได้พัฒนากระบวนการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ ด้านการบริหารจัดการให้ชุมชนมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐ โดยจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคลินิกหมอครอบครัวโดยมีนายกเทศมนตรีเป็นประธาน ทำให้เกิดระบบบริการร่วมกับชุมชน ได้แก่

1.จัดบริการพื้นฐาน (Essential care) ทั้งการดูแลรักษาเบื้องต้น การดูแลภาวะฉุกเฉิน การดูแลโรคเรื้อรังโดยชุมชนมีส่วนร่วม และการจัดโรงเรียนเบาหวานร่วมกับชุมชน

2.การสร้างความร่วมมือกับภาคีต่างๆและภาคเอกชน อาทิ การสร้างเครือข่ายชมรมสร้างสุขภาพต่างๆ

3.การดูแลที่บ้าน (Home-based care) บริการที่บ้านโดยแบ่งตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องให้การพยาบาลหรือผู้ที่ต้องการฟื้นฟูที่บ้าน ระบบดูแลต่อเนื่องระยะยาว สำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long term care)

4.การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดำเนินการป้องกันโรคโดยทีมร่วมระหว่างเทศบาลกับโรงพยาบาล และชุมชน อาทิ ระบบการดูแลปัญหาพฤติกรรมเด็กวัยเรียนแบบบูรณาการในโรงเรียน คลินิกส่งเสริมสุขภาพ คลินิกเสริมสร้างทักษะการดูแลตนเองสำหรับโรคเรื้อรัง เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินงานของ PCC คลองศาลาทำให้สัดส่วนของประชาชนในเขตเทศบาลมาใช้บริการที่คลองศาลาเทียบกับโรงพยาบาลเพชรบูรณ์เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลที่บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นบริการแบบ One stop service ทำให้ระยะเวลารอคอย (Waiting time) น้อยกว่าระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ 3-5 เท่า ของเวลารอคอยที่แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ สร้างความพึงพอใจของประชาชนในเขตเทศบาล กว่าร้อยละ 91.25 โดยพื้นฐานทั้งหมดเป็นการดูแลแบบเชิงรุก เน้นการป้องกันก่อนเจ็บป่วยในทุกกระบวนการดูแล เพื่อลดความเจ็บป่วย ตามแนวคิด “สร้างนำซ่อม” และใช้การดูแลร่วมกับชุมชน