ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ ระบุ ปี 60 พบผู้ปฏิบัติงาน รพ.สต.หลายพื้นที่ ไม่ได้รับค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์ ฉบับ11 เหตุจากการตีความแต่ละพื้นที่ไม่ตรงกัน ทำให้ไม่ครอบคลุมผู้ปฏิบัติงานใน รพ.สต. ทั้งงบประมาณไม่เพียงพอ ขณะที่หลายพื้นที่ให้วิธีเฉลี่ยหาร 7 เดือนเท่ากัน เตรียมรวบรวมปัญหาหารือ สธ. แก้ความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน

จากการณีที่มีกลุ่มลูกจ้าง รพ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี และ รพ.ประจำอำเภอต่างๆ เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.อุบลราชธานี เนื่องจากไม่ได้ค่าตอบแทนตามประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11

นายริซกี สาร๊ะ

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส. และกรรมการยุทธศาสตร์ชมรม ผอ.รพ.สต. (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัญหาค่าตอบแทน สธ. ฉบับที่ 11 นั้น ในสวนของชมรมฯ อยู่ระหว่างการติดตาม เนื่องจากในส่วนของบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีหลายพื้นที่มีปัญหาไม่ได้รับ หรือได้รับไม่ครบตามที่ประกาศกำหนด ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากปัญหาการตีความที่ไม่ตรงกัน อาจมาจากนิยามในประกาศที่ไม่ชัดเจน ซึ่งในประเด็นนี้ได้หารือกับทางกลุ่มงานนิติกรกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความชัดเจน และจะมีการทำหนังสือแจ้งอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุเกิดจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีความพยายามในการตัดบางกลุ่มที่ต้องได้รับค่าตอบแทนตามประกาศฉบับที่ 11 ออก ซึ่งกลุ่มไหนไม่ออกมาร้องเรื่องก็เงียบ

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า ขณะนี้มีการไม่ปฏิบัติตามค่าตอบแทนฉบับที่ 11 ในหลายพื้นที่ เช่น การไม่ให้ค่าตอบแทน 100% หรือครบ 12 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับกันเพียงแค่ 7-8 เดือนเท่านั้น เพราะด้วยเงินที่ไม่พอ โดย รพ.ใดที่มีเงินบำรุงก็จะสนับสนุนเพิ่มเติม ขณะที่บาง รพ.ใช้วิธีการเฉลี่ยรับค่าตอบแทน 7 เดือนเท่ากันหมด วิธีการนี้ มองว่าไม่เป็นธรรมกับ รพ.สต. เนื่องจากใน รพ.มีหลายวิชาชีพ ทั้งยังมีความต่างของค่าตอบแทนที่เหลื่อมล้ำกันมาก โดยบางวิชาชีพได้ค่าตอบแทนสูงถึง 60,000 บาท ขณะที่เพดานค่าตอบแทน รพ.สต.ระดับ 2 อยู่ที่ 4,500 บาท ส่งผลให้ รพ.สต.ที่เป็นเครือข่าย รพ.รวมแล้วอาจได้ค่าตอบแทนไม่ถึงร้อยละ 15 ของเงินค่าตอบแทนทั้งหมด

นายริซกี กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่มีการตีความไม่ตรงกันในการได้รับค่าตอบแทนนั้น อาทิ เจ้าพนักงานสาธารณสุข ระดับปริญญาตรี (จพ.ป.ตรี) ที่ถูกแต่งตั้งให้ทำงานในตำแหน่งนักวิชาการหรือนักการแพทย์แผนไทย หากไมได้เป็นข้าราชการก็จะไม่ได้รับ เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขเภสัชกรรม ซึ่งไม่ใช่สายงานตรงก็จะถูกตีความไม่ได้รับเช่นกัน นอกจากนี้ตามหลักการทั้งกลุ่มงานบริการและกลุ่มงานสนับสนุนต้องได้รับค่าตอบแทน แต่ที่ผ่านมากลุ่มงานสนับสนุนที่ได้รับค่าตอบแทน มีเพียงใน รพ.เท่านั้น โดยกลุ่มงานสนับสนุนใน รพ.สต.ไม่ได้รับ

“ปัญหาการจ่ายค่าตอบแทน ฉบับที่ 11 แม้ว่าทางนิติกรจะมีการทำหนังสือซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดการตีความที่ตรงกัน แต่ตราบใดที่ยังมีปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ และยังมีการตีความที่ไม่เป็นคุณกับผู้ปฏิบัติงาน ปัญหาการจ่ายค่าตอบแทนนี้ก็จะไม่จบ ซึ่ง สธ.จำเป็นต้องมีการปรับปรุงค่าตอบแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ ขณะเดียวกันงบประมาณควรมีการจัดสรรจากส่วนกลางลงมาเพิ่มเติมอย่างเพียงพอ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการเบียดบังงบประมาณในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทางชมรมฯ จะมีการรวบรวมปัญหาค่าตอบแทนตามประกาศฉบับที่ 11 ตลอดในปี 2560 มาพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุข พร้อมขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในบุคลากรสาธารสุขต่อไป” นายริซกี กล่าว