ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.เสนอ 4 ข้อดูแลวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ระบุขอให้ดำเนินการเป็นรูปธรรมเป็นของขวัญปีใหม่ 61 นี้ ทั้งโอนงบตรงลง รพ.สต. บรรจุข้าราชการ ตั้งกองทุนเยียวยาบุคลากรถูกทำร้ายหรือประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงาน

นายริซกี สาร๊ะ

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 นายริซกี สาร๊ะ รองโฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ ว่า ประเด็นพ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ แม้จะเปลี่ยนชื่อ แต่คงต้องมาดูในรายละเอียดว่ายังแฝงเร้นบางประเด็นที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพอีกหรือไม่ เช่น สิทธิ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ซึ่งยังเกิดคำถามว่า สำหรับหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ไม่ได้ร่วมกับคลินิกหมอครอบครัวในการทำงาน จะมีทิศทาง สิทธิ ความก้าวหน้า หรือค่าตอบแทนด้วยหรือไม่ อย่างไร เนื่องจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า รพ.สต.ที่ทำงานร่วมกับคลินิกหมอครอบครัว จะได้รับโอกาสความก้าวหน้า มีการเลื่อนระดับ เรียกว่ามีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า รพ.สต.ที่ไม่มีการทำงานร่วมกับคลินิกหมอครอบครัว

นายริซกี กล่าวอีกว่า สิ่งที่ชาว รพ.สต หมออนามัย และนักสาธารณสุขมีความเป็นห่วงในระบบสุขภาพปฐมภูมิ จึงมีข้อเสนอและอยากเห็นผลเป็นรูปธรรมเป็นของขวัญปีใหม่ในปี 2561 ดังนี้

1.ให้กระทรวงสนับสนุนและผลักดันสนับสนุนการขับเคลื่อนวิชาชีพการสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่การดำเนินงาน งบประมาณ รวมทั้งการสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น การกำหนดตำแหน่งใหม่ การปรับค่าตอบแทนวิชาชีพ เงินประจำตำแหน่ง เพราะหมออนามัยและนักสาธารณสุขจะได้ปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานวิชาชีพ ที่มีการควบคุมความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และจรรยาบรรณวิชาชีพต่อไป ทั้งนี้ในปี 2561 คาดว่าสภาการสาธารณสุขชุมชนจะมีการสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการออกอนุบัญญัติไม่ให้ล่าช้าจนเกินไป และกำลังจะเสนอสภานายกพิเศษ ซึ่งก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

2.ให้รัฐ โดย สธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนการโอนงบประมาณลง รพ.สต.โดยตรง ทั้งนี้เพื่อจะได้พิสูจน์ว่า รพ.สต.สามารถบริหารจัดการงบประมาณด้วยตนเองหรือไม่และไม่ได้เป็นต้นเหตุของรพ.ที่มีภาวะวิกฤตระดับ 7

3.สธ.ต้องเร่งสนับสนุนการบรรจุนักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข ที่สอบผ่านและมีชื่อในบัญชีทั้งหมด รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการสอบในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนเก่งได้ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ดีกว่าให้เกิดการสมองไหลไปสู่ท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นๆ แทน แต่ท้ายที่สุด สธ.ควรปรับวิธีการบรรจุนักสาธารณสุข ให้ใช้วิธีการสอบคัดเลือกจากลูกจ้างทุกประเภท เข้าสู่ระบบข้าราชการให้เหมือนๆ วิชาชีพอื่นๆ และยังรวมถึงการปรับตำแหน่ง จพ.ชำนาญงานที่มีคุณสมบัติครบเป็น นวก.สธ.ชำนาญการ ตามหลักเกณฑ์ ว.16 ชายแดนใต้ด้วย

4.สธ.ควรจะมีการตั้งกองทุนเยียวยาบุคลากรสาธารณสุขและครอบครัว ที่เกิดเหตุร้าย ถูกทำร้าย หรือประสบอุบัติเหตุในระหว่างปฏิบัติงาน หรือในที่ทำงาน หรือเหตุในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย ซึ่งเริ่มจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เช่น เหตุทำร้ายบุคลากรสาธารณสุขในห้องฉุกเฉิน เหตุร้ายใน รพ.สต. เหตุความรุนแรงต่อบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งนี้จะได้เป็นขวัญกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย อีกทั้ง ภาครัฐควรให้การสนับสนุนด้านต่างๆในการวางมาตรการความปลอดภัยอย่างรอบด้านที่เป็นรูปธรรมอีกด้วย