ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี แจงเหตุผลเรียกเก็บมัดจำผู้ป่วยไตวาย ชี้ต้นทุนซ่อมเส้นเลือดฟอกไต 40,000-50,000 บาท แต่ สปสช.จ่ายชดเชยแค่ 8,000 บาท แถมยังมีผู้ป่วยนอกเขตมารับบริการอีกกว่า 1,800 ราย หากปล่อยให้เป็นแบบนี้โรงพยาบาลขาดทุนแน่ ย้ำเตรียมทบทวนเลิกเก็บเงินเฉพาะผู้ป่วยในเขตภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ แต่ผู้ป่วยจากนอกเขตยังต้องเรียกเก็บเหมือนเดิม พร้อมทั้งส่งข้อมูลต้นทุนให้ สปสช.พิจารณาปรับอัตราการจ่ายชดเชยเพิ่ม

นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์

นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลได้เรียกเก็บเงินมัดจำในการทำเส้นฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายว่า โรงพยาบาลมีความจำเป็นเนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยมารับบริการค่อนข้างเยอะ ซึ่งถ้าหากเป็นผู้ป่วยในเขตบริการ โรงพยาบาลก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้วเพียงแต่ถ้าหากใช้สิทธิเกินกว่าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดก็ต้องมีการเรียกเก็บเงิน แต่จากสถิติในปีที่ผ่านมายังมีผู้ป่วยจากนอกเขตเข้ามารับบริการอีกประมาณ 1,800 ราย บางรายก็เรียกเก็บเงินไม่ได้ โรงพยาบาลก็ต้องแบกรับภาระในส่วนนี้

ขณะเดียวกัน ต้นทุนในการให้บริการของโรงพยาบาลก็สูงมาก เพราะผู้ป่วยที่มาส่วนใหญ่ไม่ใช่การทำเส้นฟอกเลือดใหม่ แต่เป็นการซ่อมเส้นซึ่งมีต้นทุนประมาณ 40,00-50,000 บาท ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพจ่ายให้แค่ 8,000 บาท โรงพยาบาลก็รับภาระไม่ไหว ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้มีปัญหาขาดทุนได้ จึงต้องพิจารณาเก็บเงินเพิ่มนอกเหนือจากที่ สปสช.กำหนด

“ปัญหาที่คนไข้นอกเขตมาที่เราเพราะคิวเขายาว แต่เราบริหารจัดการทำให้คิวเราสั้นโดยเปิดนอกเวลาให้เข้ามาทำเส้น ซึ่งก็ต้องจ่ายค่าหมอเพิ่ม มันเป็นต้นทุนของโรงพยาบาลที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการเร็วขึ้น พอคนไข้นอกเขตรู้ว่ามาที่เราไม่กี่วันแล้วได้ทำก็เลยมากัน แล้วบางรายก็ไม่พอจ่าย โรงพยาบาลก็ต้องรับภาระทั้งหมดเลย” นพ.ชุติเดช กล่าว

อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับตัวแทนชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยกับผู้แทน สปสช.เขต 10 เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ก็ได้ทำความเข้าใจกันว่าผู้ป่วยมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่าย ดังนั้นโรงพยาบาลจะทบทวนประเด็นดังกล่าวให้เสร็จภายในวันที่ 28 ก.พ. 2561 โดยทบทวนให้เฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในเขตบริการ ถ้าผลการทบทวนมีประเด็นก็คิดว่าจะไม่มีการเรียกเก็บแล้ว แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มาจากนอกเขตก็ต้องเรียกเก็บค่าบริการเพราะแต่ละเขตก็ต้องรับผิดชอบบริหารจัดการคนไข้ของตัวเองให้ได้

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลก็จะส่งข้อมูลต้นทุนการให้บริการให้ สปสช.พิจารณาอัตราเงินชดเชย ส่วน สปสช.จะพิจารณาจ่ายค่าชดเชยการให้บริการเพิ่มหรือไม่ยังตอบไม่ได้ ถ้า สปสช.ไม่พิจารณาก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายโรงพยาบาลก็ต้องรับภาระจนขาดทุนแน่

ด้าน นพ.เรืองศิลป์ เถื่อนนาดี ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี กล่าวว่า เบื้องต้นได้ขอให้โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ทบทวนแนวทางนี้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน รวมทั้งขอให้ส่งข้อมูลต้นทุนการให้บริการว่าค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร แล้วจะเสนอข้อมูลเข้าไปที่คณะกรรมการไตกลางซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายกองทุน จากนั้นจึงส่งให้คณะกรรมการ สปสช.พิจารณาอีกรอบ

“ทางผู้ให้บริการก็จะได้บอกว่าต้นทุนเป็นอย่างไร ส่วนผู้ป่วยก็จะได้สะท้อนความเดือดร้อนเพื่อที่ สปสช.จะได้ปรับปรุงกระบวนการจ่ายชดเชยที่เหมาะสม สปสช.ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดูแล เราก็สามารถปรับแก้ได้ถ้าโรงพยาบาลมีความจำเป็นจริงๆ” นพ.เรืองศิลป์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้ป่วยไตเดือดร้อนหนัก รพ.รัฐใน จ.อุบล เรียกเก็บเงินค่ามัดจำทำเส้นฟอกเลือด 3 หมื่น

รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ยกเลิกประกาศเก็บค่ามัดจำทำเส้นเลือดฟอกไตแล้ว