ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สหภาพพยาบาล” ถามเจตนา “สภาเทคนิคการแพทย์” กรณียื่นรื้อฟ้องคดี “พยาบาลนครปฐมเจาะเลือดตรวจสุขภาพ” หลังศาลแขวงนครปฐมสั่งไม่ฟ้อง ชี้เป็นประเด็นทำวุ่น กระทบพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งอาจสร้างภาระงานนักเทคนิคการแพทย์เพิ่มในอนาคต กระทบประชาชน พร้อมตั้งข้อสังเกตต้นตอผลประโยชน์ “เปิดแลปเอกชนรับตรวจ” หรือไม่

นางสาวปุญญิศา วัจฉละอนันท์ เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่มีความเคลื่อนไหวเพื่อรื้อคดีกรณีพยาบาลเจาะเลือดตรวจสุขภาพที่จังหวัดนครปฐม สหภาพพยาบาลฯ มองว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว กระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพสุขภาพที่มีความเหลื่อมล้ำในการทำงานร่วมกัน เช่น แพทย์ให้การรักษา แต่พยาบาลสามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้ รวมถึงการเจาะเลือดที่สามารถทำได้ทุกวิชาชีพและวิชาชีพพยาบาลมีมาถึง 122 ปีแล้ว ไม่คิดว่าพยาบาลจะถูกจับเพราะการเจาะเลือด กรณีของพยาบาลเจาะเลือดถูกจับที่จังหวัดนครปฐม จึงไม่เพียงเป็นกรณีแรกของประเทศแต่ยังเป็นกรณีแรกของโลกด้วย เพราะการเจาะเลือดโดยพยาบาลที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในการเจาะเลือด แม้แต่ในกลุ่มเด็กเล็กพยาบาลก็เป็นผู้เจาะเลือดให้ กรณีผู้ป่วยเร่งด่วนในห้องฉุกเฉิน รวมถึงเป็นผู้เก็บสิ่งส่งตรวจ ซึ่งคนเจาะเลือดให้กับกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ใช่นักเทคนิคการแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์จะทำหน้าที่ในการวินิจฉัยในห้องแลป

ทั้งนี้ ในคดีนี้ก่อนหน้านี้ศาลแขวงนครปฐมได้มีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว เนื่องจากนายกสภาเทคนิคการแพทย์ได้ให้การว่า การเจาะเลือดเป็นเพียงการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจเท่านั้น ไม่ได้ก้าวล่วงถึงการตรวจวิเคราะห์ จึงยังไม่ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยสมบูรณ์ เป็นเพียงการเจาะเลือดใส่หลอดเท่านั้น ทั้งยังเป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพที่ส่งไปยังห้องปฏิบัติการของเอกชนที่ไม่ได้มีเจตนาแปรผล โดยอัยการเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างวิชาชีพจึงอยากให้ไปพูดคุยกัน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งนายกสภาเทคนิคการแพทย์และสภาการพยาบาลได้พูดคุยกันแล้ว

ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เรียก นพ.สสจ.นครปฐมพูดคุยเพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและอาจสร้างผลกระทบตามมา

อย่างไรก็ตามจากที่มีความพยายามรื้อฟ้องคดีนี้ใหม่และจะใช้ประเด็นโต้แย้งว่า “นายกสภาเทคนิคการแพทย์” ไม่ใช่ “สภาเทคนิคการแพทย์” รวมทั้งโต้แย้งว่าคำให้การของนายกสภาเทคนิคการแพทย์ก่อนหน้านี้ ยังเป็นการให้การที่ไม่ตรงกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์นั้น เห็นว่านายกสภาเทคนิคการแพทย์เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และดูทั้งในเรื่องข้อตกลงและกติกาต่างๆ การตัดสินใดๆ ยังคิดถึงสมาชิกนักเทคนิคการแพทย์ จึงให้การต่อศาลตามประเด็นข้างต้น เพราะไม่เช่นนั้นผลที่ตามมาอาจกระทบต่อนักเทคนิคการแพทย์ซึ่งจะต้องรับภาระงานเจาะเลือดทั้งหมด

นางสาวปุญญิศา กล่าวว่า ความพยายามในการรื้อคดีนี้ ส่วนตัวมองวาเป็นเรื่องกลัวการเสียผลประโยชน์ในการเปิดแลปตรวจหรือไม่ ซึ่งสหภาพพยาบาลฯ ได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม เพื่อต้องการทราบว่าใครที่ต้องการรื้อฟ้องคดีนี้ และหากมีการรื้อฟื้นคดีจริงๆ เชื่อว่าประชาชนจะเป็นผู้ที่ตอบคำถามนี้ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบต่อชีวิต เนื่องจากตามโครงสร้าง รพ.สต. และคลินิกหมอครอบครัวไม่มีนักเทคนิคการแพทย์ ขณะที่นักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมีจำกัด คำถามคือแล้วใครจะเป็นคนเจาะเลือดและตรวจเลือดผู้ป่วย ส่วนตัวเชื่อว่านี่จะเป็นการเปิดช่องให้บริษัทเอาท์ซอร์ส (Outsource) ที่ทำในเรื่องแลปเข้ามาทันที โดยจะมีการเปิดบริษัทเอกชนเพื่อรองรับ ดังนั้นจึงเป็นมุมมองว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความพยายามรื้อฟื้นคดีนี้

ส่วนกรณีหนังสือตอบโดยกองกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องประกาศสภาการพยาบาล เรื่องแนวทางปฏิบัติสำหรับพยาบาลในการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่ระบุว่าขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์นั้น เป็นเพียงการตอบตามเนื้อผ้าในข้อกฎหมาย ซึ่งปกติ พ.ร.บ.จะใหญ่กว่าประกาศหลักเกณฑ์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นการตอบที่ไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ทั้งที่ควรมีการชะลอการตอบ โดยเรียกทั้ง 2 สภาวิชาชีพมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปก่อน ซึ่งการตอบหนังสือไปเช่นนี้ก็เหมือนกับได้ตัดสินไปแล้ว

ขณะนี้วิชาชีพต่างๆ ในระบบสุขภาพต่างออก พ.ร.บ.ของตนเองเพื่อคุ้มครอง ซึ่งวิชาชีพพยาบาลมี พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตั้งแต่ปี 2528 แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงจึงไม่ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง ทำให้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายของวิชาชีพอื่นที่ออกมาภายหลัง เช่นกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงกรณี พ.ร.บ.ยา ที่พยาบาลถูกจำกัดจ่ายยาไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลฯ เพื่อให้รองรับการทำงาน เพราะในกรณีพยาบาลเจาะเลือดออกหากมีการฟ้องร้องจริง พยาบาลคงต้องติดคุกแน่ แม้ว่าจะมีประกาศหลักเกณฑ์รองรับ เพราะในชั้นศาล พ.ร.บ.ที่เป็นกฎหมายแม่จะใหญ่กว่าประกาศหลักเกณฑ์รวมถึงกฎกระทรวงเสมอ

“วันนี้สภาเทคนิคการแพทย์ต้องทบทวนว่าการทำงานที่เหลื่อมกันระหว่างวิชาชีพคืออะไร ต้องการอะไร เพื่อใคร และทำไมจึงต้องการที่จะรื้อคดีนี้อีก เพราะสภาเทคนิคการแพทย์ไม่ได้เสียหายอะไรเลยจากพยาบาลที่เจาะเลือดตรวจสุขภาพในกรณีนี้ เพราะพยาบาลทำหน้าที่แค่การเจาะเลือดเท่านั้น ไม่ได้นำไปตรวจวิเคราะห์ผล ซึ่งคงต้องตอบสังคมว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีอะไรที่หมกเม็ดหรือไม่” เลขาธิการสหภาพพยาบาล กล่าวและว่า ขณะเดียวกันสภาการพยาบาลเองต้องทบทวนแล้วว่า กฎหมายที่ถืออยู่ทันสมัยรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งกฎหมายเดิมใช้มา 34 ปีแล้ว ควรมีการปรับปรุง ซึ่งที่ผ่านมาสหภาพพยาบาลฯ ได้นำเสนอไปหลายครั้งแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อวุ่น หลัง สสจ.นครปฐม เตรียมรื้อคดี “จับพยาบาลเจาะเลือด” สบส.เชิญ 2 สภาหารือ 29 เม.ย.นี้

สภาเทคนิคการแพทย์แจง ไม่เกี่ยวรื้อคดี 'พยาบาลเจาะเลือด' เป็นเรื่อง สสจ.นครปฐม หารืออัยการ