ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าในจีน เริ่มเกิดธุรกิจใหม่ คือการจัดหา “ยา” รักษาโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ด้วยตัวเอง ผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการทั้งหลาย

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้ทะลุ 30,000 ราย และคร่าชีวิตชาวจีนไปแล้วกว่า 500 คน โดยที่โรงพยาบาลในมณฑลหูเป่ย ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้เพียงพอ และจนถึงขณะนี้ ยังไม่มียารักษาโรคที่เป็น “สูตรสำเร็จ” ทำให้หายขาดทันทีได้ทุกคน

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน แถลงเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2563 ว่ามี “ความเป็นไปได้” ที่ยารักษาเอชไอวี โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ จะสามารถรักษาผู้ป่วยได้ และเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสูตรยา ที่โรงพยาบาลราชวิถีใช้ในการรักษาผู้ป่วยชาวจีนในไทย ก็ทำให้ความต้องการยาทั้ง 2 ตัวนี้ พุ่งพรวดในประเทศ แม้คนจีนจะยังไม่รู้ว่า ต้องนำไปผสมอย่างไร หรือใช้อย่างไรก็ตาม

นั่นทำให้ยา คาเลทรา หรือ อลูเวีย ภายใต้บริษัทยา AbbVie’s ซึ่งเป็นยาเวอร์ชั่น “ผู้ป่วยนอก” ของ “โลพิทาเวียร์/ริโทนาเวียร์” ซึ่งเป็นสูตรเดียวที่ได้รับอนุมัติให้จำหน่ายในจีน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าทันที

แน่นอน ผลกระทบแรกคือผู้ป่วยเอชไอวี ที่กลายเป็นผู้เข้าถึงยาอย่างยากเย็น หลังมีการกักตุนยาในตลาด เพราะเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยโคโรนาไวรัส 2019

แต่กระนั้นเอง ก็มีผู้ป่วยเอดส์บางส่วน ซึ่งนำยามา “พูล” รวมกัน ทำธุรกิจใหม่ เพื่อขายยาชนิดนี้ให้กับผู้ป่วย และผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะป่วยด้วยไวรัสอู่ฮั่น จนได้ยา คาเลทรา มากกว่า 5,400 ขวด ใน 1 สัปดาห์ และโพสต์ขายยาผ่าน “เว่ยปัว” ทวิตเตอร์จีน

แม้ทางการจีน จะเตือนว่ายาสูตรโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ จะมีผลข้างเคียงอย่างท้องร่วง, คลื่นไส้ หรือทำลายตับ ก็ไม่ส่งผลกระทบอะไร เพราะเพียงวันแรกที่คนขายประกาศว่ามียาตัวนี้ คำสั่งซื้อก็เข้ามานับร้อยข้อความ ใครก็แล้วแต่ที่มียา คาเลทรา ในสต็อกจำนวนมาก กลายเป็นเศรษฐีขึ้นมาทันที

ทั้งหมดนี้ เกิดจากความ “สิ้นหวัง” ของผู้ป่วยจีน โดยเฉพาะในอู่ฮั่น ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้กระทั่งการ “ตรวจ” ว่าตัวเองมีเชื้อหรือไม่ ทำให้หลายคน คิดว่าตัวเองมีเชื้อเอาไว้ล่วงหน้า ขณะที่คนที่มีเชื้อแล้ว จำนวนมากก็ยังไม่สามารถเข้าถึงขั้นตอนการรักษาทั้งในโรงพยาบาลที่เป็นทางการ และโรงพยาบาลสนามที่สร้างขึ้นใหม่ได้

อีกธุรกิจหนึ่งที่เฟื่องฟูช่วงนี้ คือการ “นำเข้า” ยา แบบลับ ๆ ผ่านประเทศผลิตยา Generic อย่าง “อินเดีย” ซึ่งเริ่มมีพ่อค้าหัวใส ขนยาเข้ามาในจีนเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. วันที่เขาเริ่มได้ยินข่าว “วงใน” ว่าจะมีการใช้ยารักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี กับโคโรนาไวรัส 2019

พ่อค้าคนหนึ่งเล่าว่า เขาสามารถทำกำไรได้มากถึง 200 หยวน (890 บาท) ต่อขวด และหมดภายในเวลาเพียง 2 วัน ขณะเดียวกัน ลูกค้าบางคน ยังสั่งครั้งเดียว มากถึง 600 ขวด สร้างกำไรให้กับพ่อค้าเป็นกอบเป็นกำ โดยพ่อค้าคนนี้ มีลูกค้ารายใหญ่ เป็นทั้งผู้ป่วย หมอที่อยู่แนวหน้าในหูเป่ย ไปจนถึงผู้ที่อยากมียา “ติดตัว” ไว้ ขณะเดียวกัน ก็มี “ยี่ปั้วะ” จำนวนหนึ่ง ปลอมเป็น “ผู้ติดเชื้อ” เพื่อหายานี้ไว้ในครอบครองเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยาชนิดนี้ในตลาดมืดของอินเดีย ก็ราคาสูงขึ้นทันที จากเดิม 1 ขวด บรรจุยา 60 เม็ด ราคาอยู่ที่ 100 หยวน (445 บาท) ก็พุ่งพรวดขึ้นมาทันที เป็น 300 – 400 บาท (1,300 – 1,800 บาท)

ปัญหาในจีนนั้นต่างจากทั่วโลก นานาชาติอาจรู้สึกหวาดวิตกกับ “ไวรัสอู่ฮั่น” แต่ในจีนนั้น ปัญหาคือหลายคนที่ป่วย เข้าไม่ถึงทั้งการตรวจวินิจฉัย หรือเข้าถึงการรักษา จึงทำให้ยอดผู้เสียชีวิตแต่ละวัน พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้น ยาอะไรก็แล้วแต่ ที่อาจรักษาได้ หรือแม้กระทั่ง “ยาจีน” โบราณ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ล้วนเป็นความหวัง จนทำให้ยารักษาหวัดหลายตัว หรือสมุนไพรจีน ก็ล้วนราคาพุ่งสูงขึ้นฉุดไม่อยู่

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก เพิ่งออกมาเตือนไม่นานนี้ว่า ยังไม่มี “การรักษา” โรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นการเฉพาะ แม้ว่านักวิจัยจากจีน และสหราชอาณาจักร จะออกมายืนยันว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมากในการวิจัยวัคซีน และอาจมีการทดลองใช้ในมนุษย์ภายใน 1 เดือนข้างหน้า

ทางการจีนระบุว่า อยู่ระหว่างแก้ปัญหา “ตรวจ” ผู้ป่วยไม่ทัน ด้วยการเพิ่งเปิด “แล็บ” แห่งใหม่ในหูเป่ย ซึ่งสามารถตรวจหาตัวอย่างได้วันละ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติการ หากทำสำเร็จ ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วขึ้นทันที

ขณะที่ ยาเรมเดซีเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยอีโบลาก่อนหน้านี้ กำลังอยู่ในระหว่างการขออนุญาตเพื่อทดลองกับผู้ป่วย 761 คน หลังจากมีการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine ระบุว่าสหรัฐฯ ใช้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยรายแรกในประเทศแล้วผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่ทั้งหมดนี้ ยังเหลืออีกหลายขั้นตอนกว่าจะมีการอนุมัติว่ายาดังกล่าว สามารถรักษาผู้ป่วยโคโรนาไวรัส 2019 โดยไม่มีผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้จริง

แหล่งที่มา

Desperate for coronavirus solutions, Chinese turn to HIV drugs, gray market and traditional cures (www.reuters.com)