ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ม.แคลิฟอร์เนีย ผนึก รพ.รามาฯ เผยแพร่ผลวิจัยผู้ป่วยโควิด-19 จาก 3 ประเทศ จีน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ยืนยันสูบบุหรี่เสี่ยงป่วยโควิด-19 รุนแรงและเสียชีวิตเพิ่ม 2 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่

วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงผลงานวิจัยการสูบบุหรี่ต่อความรุนแรงของการป่วยโควิดพบ สูบบุหรี่เสี่ยงป่วยโควิดรุนแรงเป็น 2 เท่า โดยออกรายงานเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยรายงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตีพิมพ์ในวารสาร Nicotine & Tobacco Research โดยได้รวบรวมรายงานผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 19 ชิ้น จากวารสารทางการแพทย์ที่ผ่านการทบทวนจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว รวมจำนวนผู้ป่วย 11,590 ราย ใน 3 ประเทศได้แก่ จีน สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ พบว่าผู้ป่วยที่มีประวัติสูบบุหรี่เสี่ยงที่จะป่วยหนักจากโควิด-19 และเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มเป็น 2 เท่าของผู้ป่วยที่ไม่เคยสูบบุหรี่ โดยพบว่า 30% ของผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จะป่วยด้วยอาการที่รุนแรงหรือเสียชีวิต ในขณะที่มีเพียง 17% ของผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่มีอาการป่วยหนัก

ดร.สแตนตัน แกล็นซ์

ดร.สแตนตัน แกล็นซ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาสูบแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าวว่า การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจเพราะการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ ทำลายปอดและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อต้านเชื้อโรค

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ร่วมวิจัย ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นที่มีการพยายามอ้างว่าผู้สูบบุหรี่ติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าผู้ไม่สูบและเชื่อมโยงไปว่าการสูบบุหรี่อาจป้องกันโควิดนั้น ไม่น่าเชื่อถือเพราะการรายงานประวัติการสูบบุหรี่ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างโควิด-19 มีความเป็นไปได้ที่จะมีการรายงานที่ตกหล่น ไม่ครบถ้วน จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีผู้ป่วยโควิดที่สูบบุหรี่จำนวนน้อยกว่าที่เป็นจริง ซึ่งหากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ครบถ้วนคาดว่าความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ต่อความรุนแรงของการป่วยด้วยโควิด-19 น่าจะเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงโดยตรงต่อการติดเชื้อโควิดแล้ว การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และโรคถุงลมโป่งพอง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการป่วยรุนแรงของโควิดอีกด้วย

“ขอสนับสนุนให้หน่วยงานสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ควรมีการเก็บข้อมูลประวัติการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเจ็บป่วย และช่วยให้เกิดการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเลิกสูบบุหรี่อย่างเป็นระบบต่อไป” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

ที่มา

1.Smoking is Associated with COVID-19 Progression: A Meta-Analysis [https://academic.oup.com]

2.Smoking Makes COVID-19 Worse: UCSF Analysis Finds a Near Doubling in Risk of Disease Progression [https://tobacco.ucsf.edu]