ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ 1 ก.พ. จนถึงวันที่ 17 พ.ค.รวม 889 ตัวอย่าง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนอาจจะมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ และไม่ต้องการให้มีการระบาดทั้งโควิดและไข้หวัดใหญ่ โดยการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม จนถึง 31 สิงหาคม 2563 ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล แม้ว่าจะมีอาการเหมือนกันหลายอย่าง แต่เกิดจากเชื้อไวรัสต่างสายพันธุ์กัน เนื่องจากความคล้ายคลึงกันดังกล่าว จึงยากที่จะระบุโรคได้โดยดูตามอาการเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าติดโรคโควิด 19 หรือไม่

นพ.โอภาส กล่าวว่า ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยความร่วมมือกับกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลเครือข่าย 20 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ รพ.เกาะสมุย รพ.ด่านขุนทด รพ.นครพนม รพ.นครพิงค์ รพ.พระจอมเกล้า เพชรบุรี รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.พระนารายณ์มหาราช รพ.พระปกเกล้า รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.มหาสารคาม รพ.แม่จัน รพ.ยโสธร รพ.เลย รพ.วชิระภูเก็ต รพ.สันป่าตอง รพ.ตรัง รพ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.หนองคาย รพ.ราชบุรี และสถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 63 จำนวน 889 ตัวอย่าง จำแนกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคกลาง 363 ตัวอย่าง ภาคเหนือ 92 ตัวอย่าง ภาคใต้ 150 ตัวอย่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 284 ตัวอย่าง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ (Thai National Influenza Center) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 และยังเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลกด้านไข้หวัดใหญ่ โดยมีบทบาทและหน้าที่ในการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และส่งตัวอย่างเชื้อที่มีความผิดปกติ หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมส่งไปยังองค์การอนามัยโลกอย่างสม่ำเสมอ และศึกษาติดตามการแพร่ระบาดและการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ทำให้ได้ข้อมูลอุบัติการณ์ของตัวเชื้อตามฤดูกาล และการกระจายของตัวเชื้อตามลักษณะภูมิอากาศของแต่ละภาค ศึกษาและเฝ้าระวังการดื้อยา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันโรค และการบริหารวัคซีนของประเทศให้เหมาะสมกับคนไทย