ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตเผยสถานการณ์โควิดกระทบสุขภาพจิตคนไทย คาดการณ์มิ.ย.เป็นต้นไป อาจมีคนไข้รายใหม่เพิ่มจากเหตุความเครียด

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้มีการจัดทำกราฟที่บอกถึงผลกระทบระยะยาวจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยคลื่นลูกที่ 1 ช่วงที่มีการระบาดและมีผู้ป่วยผู้เสียชีวิตสูงสุด ช่วงนี้รพ.ทุกแห่งเตรียมการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น แม้แต่รพ.จิตเวช ก็มีการกันหอผู้ป่วยเพื่อรองรับกรณีหากมีผู้ป่วยโควิดล้นจากรพ.อื่นๆ ทำให้ต้องจำหน่ายผู้ป่วยจิตเวชที่อาการดีขึ้นออกจากรพ.พอคลื่นลูกที่ 1 ลดลง สิ่งที่ตามมาคือคลื่นลูกที่ 2 คือผู้ป่วยที่ถูกเลื่อนการรักษาก่อนหน้านี้ เช่นผ่าตัด และกลับเข้าสู่กระบวนการรักษาอีกครั้ง และมากขึ้น

ส่วนคลื่นลูกที่ 3 คือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แพทย์อาจจะให้ยากลับไปรับประทานนานขึ้น อาทิ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยจิตเวชด้วย และคลื่นลูกที่ 4 ซึ่งเป็นที่กังวลมากคือผลกระทบทางจิตเวชจากภาวะเศรษฐกิจจากโควิด ซึ่งประชาชนบางส่วนอาจจะมีความเครียด ซึมเศร้า บางคนมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย และบุคลกรทางการแพทย์ที่อาจจะมีภาวะหมดไฟ ตอนนี้ไทยอยู่คลื่นที่ 3 และ 4 หากไม่มีการระบาดรอบใหม่ก็จะมีผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. ซึ่งเกิดการระบาดคลื่นลูกที่ 1 ทำให้ รพ.จิตเวชเลื่อนนัดผู้ป่วยออกไป ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยลดลง 30 % ผู้ป่วยในลดลง 47.65 % อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตได้ทำการคาดการณ์ว่าหลังจากในเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป อาจจะเกิดการที่จำนวนคนใช้บริการรายใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมได้จากหลายปัจจัย จากความเครียดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเดิม จำนวนผู้ป่วยใช้บริการมากขึ้นจนอาจทำให้กระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของผู้รับบริการ และจำนวนผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลอาจมากขึ้น จากการรักษาไม่ต่อเนื่องและขาดยา

นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ อาทิ การจัดระบบจองคิว/นัดหมายออนไลน์ โดยเหลื่อมเวลา คลินิกสังเกตอาการระบบทางเดินหายใจ การรับบริการส่งยาทางไปรษณีย์หรือร้านขายยา รวมไปถึงการรับยาผ่านระบบ Drive thru เพื่อรักษาระยะห่างอีกด้วย ซึ่งจะพัฒนาใช้มากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังจัดทำระบบนัดติดตามโดยตรงทางโทรศัพท์/วิดีโอคอล ระบบการรายงานตัวเอง ผ่าน แอพพลิเคชั่นและวิดีโอคอบ และออกเยี่ยมบ้านในรายที่มีความซับซ้อน ประสานการติดตามกับสถานพยาบาลใกล้บ้าน หากเกินขีดความสามารถก็ให้ส่งต่อรพ.จิตเวชต่อไป

“การบำบัดจิตแบบกลุ่มอาจจะต้องลดลง เน้นการบำบัดรายบุคคลมากขึ้น หากจำเป็นต้องบำบัดรายกลุ่มก็จะต้องเว้นระยะห่างด้วย การทำหัตถการบางอย่างอาจจะจำเป็นต้องสวมชุดป้องกัน เช่น การการบำบัดด้วยไฟฟ้า ลดการมารพ.ให้สั้นที่สุด ขอย้ำว่าสุขภาพกายคือชีวิต สุขภาพจิตคือชีวา ประเทศไทยจะไปต่อได้หากคนไทยใจไม่ป่วย” นพ.บุรินทร์ และว่า สำหรับการดูแลสภาพจิตใจตัวเองในระยะผ่อนปรนเหล่านี้ ขอให้มองมุมดีๆ มองบวกว่าวันนี้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะวันนี้ผ่อนปรนไปมากแล้ว หากวันนี้เรายังช่วยกันปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอนาคตก็จะได้รับการผ่อนคลายมากขึ้น การจะผ่อนคลายไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่อยู่ที่ประชาชน