ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลศึกษาภูมิคุ้มกันเมื่อฉีดวัคซีนสลับชนิด “ซิโนแวค+แอสตร้าฯ” หลัง 14 วัน พบค่าภูมิคุ้มกันขึ้นเฉลี่ยที่ระดับ 716 (Arbitrary Unit) ขณะที่ค่าภูมิฯต่อเชื้อเดลตาอยู่ที่ระดับ 78 ส่วนกรณีบูสเตอร์กลุ่มรับซิโนแวค 2 เข็ม พบกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ ค่าภูมิฯต่อเดลตาสูงถึง 271 ส่วนซิโนฟาร์มไม่มาก เหตุแพลตฟอร์มเดียวกับซิโนแวค ส่วน “ไฟเซอร์” ยังไม่มีข้อมูล คาดว่าจะดำเนินการและได้ผลอีก 1 เดือน

เมื่อเวลา 11.25 น. วันที่ 19 ส.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ประเด็น : ภูมิคุ้มกันเมื่อฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการวิจัยวัคซีนสลับชนิด ต่างแพลตฟอร์ม ว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงแค่ไหน ซึ่งมีการศึกษาในอาสาสมัคร 125 ราย เป็นชาย 61 ราย หญิง 64 ราย อายุเฉลี่ย 40 ปี(18-60ปี) โดยตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Quantitative Anti-S RBD ซึ่งเป็นการวัดภูมิภาพรวมไม่ได้แยกสายพันธุ์ใด และค่าที่ขึ้นเป็นเฉพาะแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งหน่วยที่เรียกค่าภูมิคุ้มกันกรณีตรวจภาพรวม เรียกว่า ค่า AU หรือ Arbitrary Unit โดยมีการใช้ซิโนแวค (Sinovac)กับซิโนแวค เป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบ ซึ่งกรณีแอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca ) กับแอสตร้าเซนเนก้าภูมิคุ้มกันสูงขึ้น

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า โดยค่า SS ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเป็น 117 ส่วน AA เป็นค่า 207 ขณะที่การสลับสูตร S+A ภูมิคุ้มกันขึ้นเฉลี่ยที่ 716 แต่ไม่ใช่ทุกคน อยู่ที่ภูมิฯ แต่ละคน ซึ่งภูมิสูงขึ้นได้ตั้งแต่ 399-1127 โดยการศึกษาครั้งนี้ข้อมูลมาจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งข้อมูลมาจากอาสาสมัคร ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และจากศิริราชพยาบาล ในกลุ่มประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงถัดมาไทยมีการฉีดบูสเตอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ ในส่วนที่ได้รับแอสตร้าฯ เข็มที่ 3 ก็พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นเช่นกัน ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ ส่วนสูตรบูสเตอร์ ค่าเฉลี่ย 1,000 เศษ ขึ้นกว่าซิโนแวค 2 เข็มเดิมที่ได้รับ 10 กว่าเท่า แต่ยังไม่มีข้อมูลคนที่บูสเตอร์ด้วยไฟเซอร์ ซึ่งอนาคตต้องมีการตรวจประเมินต่อไป

นอกจากจะมีภูมิขึ้นมากน้อยแค่ไหน คำถามคือ มีผลข้างเคียงหรือไม่กรณีการฉีดซิโนแวคและแอสตร้า ผลข้างเคียงเป็นแบบแอสตร้า ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกัน เช่น ใครฉีดแอสตร้าฯจะมีไข้ อันนี้ก็เช่นกัน โดยได้มีการติดตาม 2 สัปดาห์เปรียบเทียบกับ 4 สัปดาห์ ผลการติดตามผลข้างเคียงแอสตร้าฯ เข็มสอง คือ มีไข้ร้อยละ 66 ปวดศีรษะ ร้อยละ 33 อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ง่วงซึมร้อยละ 28 ใกล้เคียงกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ดังนั้น สูตรสลับชนิดมีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลดังกล่าวเป็นการตรวจภูมิคุ้มกันโดยภาพรวม ซึ่งมีเทคนิคการตรวจที่ยาก เพราะต้องใช้ห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า ห้องนิรภัยระดับ 3 สามารถจัดการเชื้อไวรัสเป็นๆได้ โดยวิธีนี้ เรียกว่า PRNT หรือ Plaque Reduction Neutralization Test ไม่สามารถตรวจได้ในห้องปฏิบัติการทั่วไป หลักการคือ จะใช้น้ำเลือด หรือซีรั่มมาเจือจางลงเรื่อยๆ และเพาะเชื้อไวรัสที่ต้องการทดสอบ และนำมาทดสอบ โดยการเจือจางต้องเจือจางให้ลดหรือกำจัดไวรัสได้ 50% จากนั้นจึงนำมาทดสอบภูมิคุ้มกันในคนที่ได้รับวัคซีน เช่น หากค่าได้ 40 หมายความว่าเราเจือจางได้ 40 เท่า ดังนั้น ตัวเลขยิ่งสูงยิ่งดี ที่สำคัญเราทดสอบกับไวรัสจริง ซึ่งเวิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐาน

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า จากการตรวจภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งระบาดในไทยแล้วกว่าร้อยละ 90 โดยในกราฟจะแสดงให้เห็นถึงอาสาสมัครแต่ละรายเกิดภูมิคุ้มกันต่อเดลตาอย่างไร โดยค่าภูมิที่ขีดเส้นกำหนดว่า เท่ากับ 10 โดยตั้งไว้ว่า หากเกินเส้นนี้ถือว่าใช้ได้ ต่อสู้ไวรัสได้ ซึ่งยิ่งเกินมากยิ่งดี อย่างไรก็ตาม ภูมิฯเหล่านี้โดยธรรมชาติจะเริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม สำหรับค่าเฉลี่ยสูตรเดิมฉีดซิโนแวค และซิโนแวค ค่าเฉลี่ยขึ้นมาประมาณ 24 เศษๆ ซึ่งเกินเส้นจุดตัดมาตรฐาน ถือว่าใช้ได้ในการกำจัดเชื้อไวรัสในหลอดทดลอง ส่วนการสลับสูตรโดยคนฉีดแอสตร้าฯเข็มแรก แต่ด้วยมีอาการข้างเคียงบางประการจึงฉีดซิโนแวคเข็มที่ 2 ซึ่งค่าที่ได้ไม่ได้แตกต่างจากซิโนแวค 2 เข็ม ค่าเฉลี่ยขึ้นมาที่ 25 การสลับสูตรแบบนี้จึงไม่เพิ่มคุณค่ามาก ส่วนกรณีการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มพบค่าเฉลี่ย 76 หมายความว่าสู้เดลตาได้ขนาดเจือจางไป 76 เท่า

“ขณะที่เมื่อมีการสลับสูตร ซึ่งเป็นสูตรที่เป็นมาตรการสำคัญ คือ ฉีดด้วยซิโนแวค และ 3 สัปดาห์ถัดมาตามด้วยแอสตร้า พบค่าเฉลี่ยเป็น 78 เศษๆ ซึ่งถือว่าพอๆกับหรือเหนือกว่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม ซึ่งภูมิภาพรวมก็ขึ้นเช่นกัน ขณะที่ภูมิฯต่อเดลตาก็ดีมากพอสมควร ดังนั้น การฉีดซิโนแวคและตามด้วยแอสตร้าฯ ใช้เวลาห่างของ 2 เข็มแค่ 3 สัปดาห์ และนับไปอีก 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันก็สูงได้เร็วเมื่อเทียบกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ซึ่งกว่าภูมิจะขึ้นต้องใช้เวลามากกว่า” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ส่วนกรณีการบูสเตอร์นั้น อย่างซิโนฟาร์ม ยังมีข้อจำกัดเพราะบูสเพียง 14 คน แต่ข้อมูลจะพบว่าการบูสซิโนฟาร์มเฉลี่ย 61 ซึ่งมากกว่าซิโนแวค 2 เข็มถึง 2.5 เท่า อย่างไรก็ตาม ขึ้นไม่มากเพราะเป็นแพลตฟอร์มเชื้อตายเหมือนกัน ขณะที่การบูสด้วยแอสตร้าฯ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งบูสด้วยแอสตร้าฯ ทั้งนี้พบว่าสู้กับเดลตาได้ดีมากถึง 271 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดบูสเตอร์ด้วยแอสตร้าฯ ขอให้มีความมั่นใจ

อย่างไรก็ตาม การวิจัยทั้งหมดยังไม่ได้ตอบคำถามว่า 1.ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นมาจะอยู่ได้นานแค่ไหน อย่างการบูสด้วยเข็ม 3 ขึ้นมา 11 เท่า ตกลงอยู่ได้นานแค่ไหน จึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ 2.กรณีไฟเซอร์ เพิ่งดำเนินการก็ต้องรอข้อมูลให้ครบ 2 สัปดาห์หลังจากนั้นจะหาอาสาสมัครมาศึกษา และเปรียบเทียบอีก

“สรุป 1.คนที่ได้รับวัคซีนสูตรไขว้ โดยซิโนแวค เข็มแรก และเข็ม 2 ด้วยแอสตร้าฯ จะได้ภูมิคุ้มกันที่ดีพอๆกับการฉีดแอสตร้าฯ สองเข็ม แต่ข้อดีใช้เวลาสั้นลงเพียง 5 สัปดาห์ 2.หากจะสลับสูตรเป็นแอสตร้าฯ เข็มแรก และซิโนแวคเข็ม 2 อันนี้ไม่แนะนำเพราะค่าภูมิฯไม่แตกต่างซิโนแวค 2 เข็ม ยกเว้นมีอาการแพ้ 3.การฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าหลังได้รับซิโนแวค 2 เข็ม สามารถกระตุ้นภูมิฯ ได้ดีมากกับสายพันธุ์เดลตา และ 4.การฉีดกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์มหลังได้รับซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิสูงึ้น แต่ยังน้อย และจำนวนคนยังน้อย 14 คน อาจต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีเบตานั้น จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพราะจำนวนยังน้อย” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กล่าวว่า เป็นการโชว์ครั้งแรกของประเทศ โดยทำการทดลองจริงในห้องนิรภัยระดับ 3

เมื่อถามกรณีการศึกษาบูสเตอร์โดสในส่วนวัคซีนไฟเซอร์จะมีขั้นตอนและใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์เพิ่งมีการบูสเตอร์ โดสให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าไปประมาณ 3-4 แสนราย ซึ่งเพิ่งดำเนินการไป เนื่องจากไฟเซอร์เข้าประเทศไทยมาไม่นานนัก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนในการศึกษาภูมิคุ้มกันกรณีไฟเซอร์นั้น จะมีการคัดเลือกอาสาสมัคร ซึ่งคิดว่าไม่ยาก โดยจะคัดเลือกจะใช้หลักการกระจายกลุ่มอายุหลากหลายเพื่อเป็นตัวแทนในการศึกษาครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ผลการศึกษาภูมิคุ้มกันกรณีบูสเตอร์ด้วยไฟเซอร์ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตามขั้นตอนหลังบูสเตอร์โดสไป 2 สัปดาห์ จึงจะมีการเจาะเลือดมาตรวจ และหลังจากนั้นก็จะเพาะกับไวรัสตัวจริงใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะทราบได้ คาดว่าจากนี้ไม่น่าเกิน 1 เดือนก็จะทราบผล

นพ.ศุภกิจ กล่าว การฉีดวิธีใหม่ด้วยการฉีดชั้นผิวหนัง จากประสบการณ์คือ ใช้วัคซีนแค่ 25% ก็กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเหมือนฉีดเข้ากล้าม 100% หากงานวิจัยนี้ยืนยันและมีโอกาสสำเร็จก็จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการวัคซีนของไทยมาก แต่ก็ต้องรอผลการศึกษาก่อนเพื่อให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ โดยจะเร่งมือทำเรื่องนี้ต่อไป

ข่าวเกี่ยวข้อง 

ศิริราชเผยผลวิจัย “บูสเตอร์ โดส” กระตุ้นเข็ม 3 “แอสตร้าฯ” ภูมิคุ้มกันสูงกว่า “ซิโนฟาร์ม” ส่วนไฟเซอร์รออีก 2 สัปดาห์

กรมควบคุมโรคเผยผลประเมินประสิทธิผลวัคซีน “ซิโนแวค” และ “แอสตร้าฯ” ในบุคลากรการแพทย์ของไทย

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org