ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาคุณภาพผลงานวิชาการและการคัดเลือกผลงานวิชาการยอดเยี่ยม กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 และมอบโล่รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น ประจำปี 2565 รวม 88 เรื่อง สร้างกำลังใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขในการพัฒนาผลงานวิชาการ/ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานสาธารณสุข

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาคุณภาพผลงานวิชาการและการคัดเลือกผลงานวิชาการยอดเยี่ยม กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 พร้อมทั้งมอบโล่รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น ประจำปี 2565

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาผลงานวิชาการให้ได้คุณภาพ สามารถนำไปเผยแพร่ ประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานสาธารณสุขระดับชาติ รวมทั้งเป็นการยกย่องและเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขในการสร้างผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานสาธารณสุขต่อไป โดยในปี 2565 มีผลงานวิชาการที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผลงานวิชาการดีเด่น รวมทั้งสิ้น 88 เรื่อง จาก 10 สาขา ได้แก่ 1.สาขาการพยาบาล 2.สาขาบริหารสาธารณสุข นโยบายสาธารณสุขสาธารณสุขทั่วไป เศรษฐกิจสุขภาพ 3.สาขาโควิด 19 4.สาขาการส่งเสริมสุขถาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม

5.สาขาทันตสาธารณสุข 6.สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์, Lab 7.สาขาการแพทย์ 8.สาขาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ 9.สาขาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สมุนไพร กัญชา กัญชง และ 10.สาขาอาหาร ยาและการคุ้มครองผู้บริโภค แยกเป็น ผลงานที่นำเสนอด้วยวาจา 44 เรื่อง โปสเตอร์ 28 เรื่อง และนวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ 16 เรื่อง

สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผลงานวิชาการดีเด่นมาจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์อนามัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานคุณภาพที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการบริการเพื่อประชาชน เช่น สิ่งประดิษฐ์หมอนหนุนรองคอจัดท่าใส่ท่อช่วยหายใจในทารกแรกเกิด เป็นต้น

“ผมขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลผ่านการคัดเลือกเป็นผลงานวิชาการดีเด่นทุกท่าน การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลงานวิจัย ตลอดจนพัฒนาทักษะและความสามารถในการนำเสนอ และนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงานของท่านเอง” นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าว