ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการกลางข้าราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) ประชุมพิจารณาเห็นชอบตำแหน่ง “นักสาธารณสุขท้องถิ่น” พร้อมดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.66  กลุ่มถ่ายโอนรพ.สต.รอลุ้นปรับตำแหน่ง เพิ่มค่าวิชาชีพ ขณะที่สภาการสาธารณสุขชุมชน ส่งข้อมูลให้ สธ.ดำเนินการตามขั้นตอนเช่นกัน

 

จากกรณีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)  ประชุมพิจารณากำหนดตำแหน่งใหม่ให้แก่นักวิชาการสาธารณสุข เป็น “นักสาธารณสุข” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบหลักการและทำหนังสือเวียนเรื่องประกาศมาตรฐานตำแหน่ง นักสาธารณสุข ให้แก่ส่วนราชการต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่มีการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ซึ่งมีบุคลากรปฏิบัติงานในส่วนนักวิชาการสาธารณสุข ที่ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่ง และต้องมีการกำหนดค่าตอบแทน ค่าวิชาชีพ โดยแต่ละส่วนราชการจะต้องมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังตามขั้นตอนต่างๆ ด้วยนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีการประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.)  ครั้งที่ 7/2566 ซึ่งมีการพิจารณาวาระต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นมีการพิจารณาการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข”   ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการฯ เห็นชอบกำหนดตำแหน่งดังกล่าวภายใต้โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และให้สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นหรือ ก.ถ. กำหนดตำแหน่งให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2566

ท้องถิ่นเห็นชอบ "นักสาธารณสุข"

นายอเนก ทิมทับ เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า นับเป็นข่าวดีที่ทางท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการกำหนดตำแหน่งใหม่จากนักวิชาการสาธารณสุข เป็น “นักสาธารณสุข” ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.2556 จากนี้ก็ต้องมารอขั้นตอนการดำเนินงานในส่วนของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อ เนื่องจากแม้เห็นชอบกำหนดตำแหน่งแล้ว แต่ต้องมีการกำหนดเลขตำแหน่งเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนระบบราชการ ซึ่งก็จะเหมือนที่ ก.ถ.มีมติออกมาครั้งนี้ จากนั้นก็จะพิจารณาตัวเลขกรอบอัตรากำลังในท้องถิ่นว่า ต้องมีจำนวนเท่าไหร่ เช่น ท้องถิ่นก็จะไปพิจารณาว่า ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนมานั้น มีนักวิชาการสาธารณสุขที่ต้องปรับเป็นนักสาธารณสุข จำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น

“ที่ผ่านมา ก.พ.แจ้งให้สภาการสาธารณสุขชุมชนรวบรวมตัวเลขว่า แต่ละหน่วยราชการควรมีนักสาธารณสุขกี่ตำแหน่ง หน่วยงานไหนต้องมีกี่คน โดยเราได้ส่งตัวเลขให้กับทางกองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)แล้ว ซึ่งเราเสนอ 2 แผน โดยแผน 1 เราใช้กรอบอัตรากำลังเดิมที่เคยมีก่อน ส่วนแผน 2 จะเป็นตัวเลขที่เราจะรวบรวมเพิ่มเติมเข้าไป” นายอเนก กล่าว

อยู่สังกัดไหนอยู่ภายใต้วิชาชีพ รับการดูแลเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนักสาธารณสุข ที่ถ่ายโอนไปอบจ. ยังอยู่ในกรอบที่สภาการสาธารณสุขชุมชนดูแลอยู่เช่นเดิมใช่หรือไม่ นายอเนก กล่าวว่า ดูแลเช่นเดิม เพราะความเป็นวิชาชีพนั้น ทางสภาฯ ดูแลเหมือนกัน ไม่ได้มีการแบ่งแยกก็จะเหมือนวิชาชีพอื่นๆ ที่ดูแลภาพรวมทั้งหมด เนื่องจากต้องมีการดูแลมาตรฐาน จรรยาบรรณของนักสาธารณสุข ในการดูแลประชาชนทั่วประเทศ 

เมื่อถามว่าหากนักวิชาการสาธารณสุขไม่สอบใบประกอบวิชาชีพฯ จะไม่ได้ปรับเป็น “นักสาธารณสุข” ใช่หรือไม่ นายอเนก กล่าวว่า  ใช่  นักวิชาการสาธารณสุข หากต้องการใบประกอบวิชาชีพฯ ต้องมาสอบเพื่อปรับเป็น “นักสาธารณสุข” ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ที่ผ่านมามีการสอบผ่านไปแล้วประมาณกว่า 26,000 คน อย่างไรก็ตาม สภาการสาธารณสุขชุมชนจะมีประกาศเปิดสอบสำหรับคนที่มีคุณสมบัติครบปีละ 2 ครั้ง หากไม่สอบก็จะเป็นนักวิชาการสาธารณสุข หรือเจ้าพนักงานตามตำแหน่งเดิม ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบอะไร แต่จะไม่ได้สิทธิในเรื่องค่าวิชาชีพ ค่าตอบแทนอื่นๆที่จะตามมา  นอกจากนี้ ในส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่สอนนักสาธารณสุข ก็ต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพเช่นกัน หลายคนมีใบประกอบวิชาชีพแล้ว

 ข่าวเกี่ยวข้อง :

-เฮ! มติ ก.พ.เห็นชอบตำแหน่งใหม่ “นักสาธารณสุข”  ส่ง สธ.กำหนดกรอบอัตรากำลัง