ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับถอยหลัง! ความก้าวหน้า “นักวิชาการสาธารณสุข” สู่ตำแหน่งวิชาชีพใหม่ “นักสาธารณสุข”  จากข้อเรียกร้องการขับเคลื่อนงานปฐมภูมิ ส่งเสริมป้องกันโรค ร่วมกู้วิกฤติโรคโควิด19 ระบาด ล่าสุด สธ.อยู่ระหว่างจัดสรรกรอบอัตรา และพิจารณาเงินเพิ่มพิเศษ(พ.ต.ส) เหมือนวิชาชีพอื่นๆ ขณะที่ท้องถิ่นเดินเรื่องแล้ว

 

หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus (www. hfocus.org) นำเสนอปัญหาบุคลากรสาธารณสุขมาตลอด โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการณ์โรคโควิด19ระบาดหนัก ซึ่งแน่นอนว่าบุคลากรสาธารณสุขกลุ่มหนึ่งที่ก่อนหน้านี้หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่พวกเขาเป็นอีกกลุ่มที่มีการขับเคลื่อน เพื่อขอให้กำหนดเป็นวิชาชีพหนึ่ง คล้ายๆ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯคือ “นักวิชาการสาธารณสุข”

โดยในช่วงวิกฤติโควิด เราจะเห็นภาพบุคลากรกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า  “นักวิชาการสาธารณสุข” และ “เจ้าพนักงานสาธารณสุข” ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ แต่มีการขับเคลื่อนกฎหมายจนเกิดเป็นพ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556  ที่มีกฎหมายมาเป็น 10 ปี เน้นการทำงานด้านปฐมภูมิ ส่งเสริมป้องกันโรค โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ซึ่งที่ผ่านมาแม้มีกฎหมาย แต่ยังไม่มีการกำหนดตำแหน่งชัดเจน กระทั่งเกิดโควิด19 ระบาด และวิชาชีพอื่นๆทยอยได้รับความก้าวหน้า จึงมีการเรียกร้องจนมีการเดินเรื่องนำไปสู่กำหนดตำแหน่งใหม่ คือ  “นักสาธารณสุข” อย่างที่สำนักข่าว Hfocus ได้นำเสนออย่างต่อเนื่องนั้น

จริงๆการเรียกร้องกำหนดตำแหน่งจาก  “นักวิชาการสาธารณสุข” สู่ “นักสาธารณสุข”  มีการเรียกร้องมาเป็นเวลา 10 ปี แต่ที่ดูจะมีแรงขับเคลื่อนมากก็ต้องยกให้ช่วงวิกฤตโควิด19 ระบาด เพราะกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในหลายกลุ่มที่อยู่ด่านหน้าสู่โรคระบาด มีประมาณ 50,000 คน เพียงแต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า นักวิชาการสาธารณสุข ช่วยงานป้องกันโรคโควิดอย่างไร

ไทม์ไลน์ จากการเรียกร้องสู่การขับเคลื่อนของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

สำนักข่าว Hfocus ได้สรุปไทม์ไลน์หลักๆ หลังจากโควิด19 ระบาด และรัฐบาลให้สิทธิสวัสดิการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรด่านหน้า ทั้งการบรรจุข้าราชการโควิด เงินค่าตอบแทน เงินค่าเสี่ยงภัยต่างๆ ซึ่ง “นักวิชาการสาธารณสุข” เป็นอีกกลุ่มในการปฏิบัติงานสู้โควิด19 โดยไทม์ไลน์ข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าวหลักๆ เริ่มตั้งแต่

  • 3 ก.ค.2563

- สภาการสาธารณสุขชุมชน เข้ายื่นหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข และสำเนายื่นถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด19  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) กรณีมีนักวิชาการสาธารณสุข ประสบปัญหาไม่ได้รับการบรรจุข้าราชการโควิดรอบแรก ทั้งที่ปฏิบัติการด่านหน้า  

  • 24 ก.พ.2564

- สภาการสาธารณสุขชุมชน แจ้งขอกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขแก่สำนักงานปลัดกระทรวงฯ

  • 7 พ.ค.2564

- กระทรวงสาธารณสุข รับเรื่องและดำเนินการตามขั้นตอนแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาทบทวนบทบาทภารกิจสายงานวิชาการสาธารณสุข

  • 16 มิ.ย.2564

- สภาการสาธารณสุขชุมชน  เข้าพบ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.)  ติดตามการช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องความก้าวหน้าในสายงานในประเด็นต่างๆ   เช่น กำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” รองรับการปฏิบติงานปฐมภูมิ การส่งเสริมป้องกันโรคให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.วิชาชีพฯ การบรรจุตำแหน่งข้าราชการโควิด สิทธิสวัสดิการต่างๆ

แฟ้มภาพ

  • 21 ก.ย. 2564

- ผู้แทนสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้สัมภาษณ์กรณีเตรียมยื่นหนังสือถึง นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการสธ. และผู้บริหาร สธ. พิจารณาช่วยเหลือนักวิชาการสาธารณสุขทั่วประเทศกว่า 5 หมื่นคน ปฏิบัติงานโควิดด่านหน้า แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมความก้าวหน้าสายงาน ทั้งการการบรรจุข้าราชการ การกำหนดสายงานใหม่ ค่าตอบแทนต่างๆ

  • 1 ก.ค.2564   

- นายไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน ทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ติดตามกรณีขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และความก้าวหน้า บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ณสุข

  • 27 ก.ย.64  

- ประชุมคณะทำงานครั้งที่ 1

  • 24 พ.ย.2564

- แต่งตั้งคณะทำงานฯ เพิ่มเติม

  • 2 ธ.ค.และ23 ธ.ค.2564

-ประชุมคณะทำงานครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3

  • 10 ม.ค.2565

-อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) เห็นชอบให้กรมต่างๆในกระทรวงฯ และสภาการสาธารณสุขชุมชนจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม

  • 14 มี.ค.2565  

- อ.ก.พ.สป.สธ. เห็นชอบเสนอเรื่อง อ.ก.พ.ระดับกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง

  • 20 เม.ย.2565

- นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์  ประธานคณะกรรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา  ประชุมหารือแนวทางให้ความเป็นธรรมการประกอบวิชาชีพนักสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.2556 โดยมติเห็นชอบให้กำหนดตำแหน่ง และเงินเพิ่มพิเศษ หรือเงิน พ.ต.ส.เหมือนวิชาชีพอื่นๆ  โดยเสนอกระทรวงสาธารณสุขเสนอเข้าสู่การประชุม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ก่อนเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ต่อไป

  • 29 เม.ย.2565 

- อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ประชุมพิจารณาและเสนอต่อ ก.พ.จัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

  • 15 ส.ค. 2565

-สภาการสาธารณสุขชุมชน พร้อมด้วยตัวแทนบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด19 ประมาณ 150 คน เดินทางไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และนายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยติดตามการดำเนินการของ ก.พ. ในเรื่องความก้าวหน้าการปฏิบัติงาน ทั้งการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข บรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ฯลฯ

จากนั้นวันเดียวกันยังเดินทางไปร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ผ่านนพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ปชป. เลขานุการคณะกรรมาธิการด้านการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ให้ช่วยติดตามเรื่องนี้เช่นกัน

แฟ้มภาพ

  • 6 ต.ค.2565

- ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมความก้าวหน้า การกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข และการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ค่าตอบแทนต่างๆ ภายในการประชุมหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนางานด้านสาธารณสุข  

  • 16 ธ.ค.2565

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ และเครือข่าย  เข้ายื่นหนังสือถึง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)   เพื่อทวงถามความคืบหน้าและกรอบระยะเวลาดำเนินการ (Timeline) บรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง หลังจากรอบแรกนักวิชาการสาธารณสุขตกหล่น และขอให้เร่งรัดกำหนดตำแหน่งวิชาชีพเป็น “นักสาธารณสุข”

  • 21 ธ.ค.2565

- ชมรมนักสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ออกแถลงการณ์เรียกร้องไปยังรัฐบาล และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ขอให้เร่งรัดการกำหนดตำแหน่งใหม่ของนักสาธารณสุขเป็นตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะและเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ตลอดจนสิทธิและความก้าวหน้าของผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน

 

  • 13-17 มีนาคม 2566  

- นักวิชาการสาธารณสุขร่วมกับเครือข่ายนักสาธารณสุขทั่วประเทศ  เรียกร้องกำหนดตำแหน่งใหม่ “นักสาธารณสุข” เพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.วิชาชีพฯ และการปฏิบัติงานต่างๆ ได้กำหนดให้เป็นสัปดาห์เรียกร้องความเป็นธรรม โดยแสดงออกด้วยการถือป้ายเรียกร้องต่างๆ

  • 14 มี.ค.2566 

- ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย)  ยื่นหนังสือถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ให้นักวิชาการสาธารณสุขทั่วประเทศ  4 ประเด็น คือ 1)เร่งรัดแก้ปํญหาความล่าช้ากำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” เป็นวิชาชีพเฉพาะ 2)เร่งรัดแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำความก้าวหน้าในโรงพยาบาลชุมชน 3)เร่งรัดการบรรจุข้าราชการโควิดรอบ  2 ที่ยังมีนักวิชาการสาธารณสุขไม่ได้บรรจุตกค้าง และ4)เร่งรัดปรับตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขที่มีใบประกอบวิชาชีพสู่สายวิชาการ

  • 15 พ.ค.2566

- คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)  ประชุมพิจารณากำหนดตำแหน่งใหม่ให้แก่นักวิชาการสาธารณสุข เป็น “นักสาธารณสุข”  โดยเห็นชอบหลักการและทำหนังสือเวียนเรื่องประกาศมาตรฐานตำแหน่ง นักสาธารณสุข ให้แก่ส่วนราชการต่างๆ ทั้งกระทรวง สาธารณสุข(สธ.) รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่มีการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ซึ่งมีบุคลากรปฏิบัติงานในส่วนนักวิชาการสาธารณสุข ที่ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่ง และต้องมีการกำหนดค่าตอบแทน ค่าวิชาชีพ โดยแต่ละส่วนราชการจะต้องมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังตามขั้นตอนต่างๆ ด้วยนั้น

 

  • 27 ก.ค. 2566

- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีการประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.)  ครั้งที่ 7/2566 ซึ่งมีการพิจารณาและเห็นชอบการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข”    ภายใต้โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และให้สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นหรือ ก.ถ. กำหนดตำแหน่งให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2566

  • 31 ส.ค.2566

- ที่ประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) นำวาระรับรองรายงานการประชุมของ ก.จ. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล(ก.ท.) และคณะกรรมการกลางพนักงานสวนตำบล (ก.อบต.) มาเข้าวาระพิจารณา ซึ่งในการประชุมมีประเด็นการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” ให้ทันเดือนกันยายน 2566  เพื่อให้อปท.สามารถนำไปปรับกรอบโครงสร้าง ให้มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2566 นี้  โดยนายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ลงนามวันที่ 29 สิงหาคม 2566 สรุปผลรายงานการประชุมดังกล่าว  

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการส่งมติการประชุม ให้กถ. ประกาศกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขให้เป็นสายงานที่มีเงินประจำตำแหน่งนั้น โดยปรากฏอยู่ในวาระการประชุม 3 ส่วน คือ รายงานการประชุมของ ก.จ. จะอยู่ในวาระที่ 8  รายงานการประชุมของ ก.ท. จะอยู่ในวาระที่ 3 และรายงานการประชุมของ ก.อบต. จะอยู่ในวาระที่ 2 โดยสรุปเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการเห็นชอบให้กำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข คือ

1)กำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งว่า “ต้องได้รับปริญญาตรี หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาะรณสุขชุมชน หรือในสาขาวิชา หรือทางที่ ก.จ.กำหนด

2)กำหนดให้ตำแหน่งนักสาธารณสุข เพิ่มเติมในกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องเกื้อกูลกันตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่น ในกลุ่มที่ 6 กลุ่มสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมและให้แจ้งสำนักงาน ก.ถ.เพื่อพิจารณากำหนดให้นักสาธารณสุข เป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มเติมต่อไป

 

สธ.อยู่ระหว่างจัดสรรกรอบอัตรากำลัง และพิจารณาค่าตอบแทน พ.ต.ส.

ส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” ตามมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ก่อนหน้านั้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมจัดสรรกรอบอัตรากำลัง ตามกรอบโครงสร้างของกระทรวงฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” เป็นวิชาชีพหนึ่ง นักวิชาการสาธารณสุขจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพตามพ.ร.บ.ฯที่กำหนด เมื่อได้ใบประกอบวิชาชีพก็จะมีสิทธิต่างๆ เช่น เงินเพิ่มพิเศษ หรือ พ.ต.ส. โดยขณะนี้กองเศรษฐกิจสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)  ได้ส่งเรื่องต่อไปยังกองนโยบายและแผน สป. และส่งเรื่องไปยัง ก.พ. เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปี 2565  

ทั้งหมดเรียกว่า นับถอยหลังรอความจริงสำหรับตำแหน่งใหม่ “นักสาธารณสุข”

 

แฟ้มภาพ

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-นักวิชาการสาธารณสุข สู่ นักสาธารณสุข  หนึ่งในด่านหน้าปฏิบัติงานโควิด19  เรียกร้องความเป็นธรรมสู่ความฝันใกล้ความจริง

-นักสาธารณสุขท้องถิ่น ผ่านฉลุย! เหลือรอขั้นตอนกำหนดกรอบอัตรากำลัง คาดเสร็จ ต.ค.นี้