ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เปิดข้อมูลดูแลผู้สูงอายุระบบบัตรทอง ปี 2565 มีผู้สูงอายุสิทธิบัตรทอง 10.27 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21.77 ของผู้มีสิทธิบัตรทองทั้งประเทศ เผยจำนวนรับบริการรักษาสูงเป็น 2 เท่าของทุกกลุ่มอายุ เฉลี่ยรับบริการผู้ป่วยนอก 6.33 ครั้ง/คน/ปี จากอัตราเฉลี่ยที่ 3.53 ครั้ง/คน/ปี รับบริการผู้ป่วยใน 0.22 ครั้ง/คน/ปี จากอัตราเฉลี่ย 0.13 ครั้ง/คน/ปี ขณะที่การใช้ทรัพยากรดูแลผู้สูงอายุสัดส่วนอยู่ที่ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งระบบ พร้อมเผยโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ ได้แก่ ต่อมลูกหมากโต ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และต้อกระจกในวัยชรา    

วันที่ 26 ต.ค. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เกือบร้อยละ 20 ของประชากรประเทศ จำเป็นต้องมีการจัดระบบรองรับเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพที่จำเป็น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจของ สปสช. ที่ผ่านมาจึงได้มีการทบทวนข้อมูลผู้สูงอายุในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ในปีงบประมาณ 2565 เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาปัญหาสาธารณสุขในผู้สูงอายุ การพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบการดูแลต่อไป 

ทั้งนี้จากข้อมูลปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรจำนวน 66.98 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 13.16 ล้านคน หรือร้อยละ 19.65 โดยในส่วนของสิทธิหลักประกันสุขภาพ เป็นผู้มีสิทธิบัตรทองฯ มากที่สุด ถึงจำนวน 10.27 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 21.77 จากผู้มีสิทธิบัตรทองทั้งหมด 47.18 ล้านคน, รองลงมาเป็นสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ จำนวน 2.10 ล้านคน หรือร้อยละ 39.61 จากผู้มีสิทธิ 5.30 ล้านคน สิทธิประกันสังคม 4.31 แสนคน หรือร้อยละ 3.38 จากผู้มีสิทธิ 12.75 ล้านคน และสิทธิรักษาพยาบาลพนักงานส่วนท้องถิ่น จำนวน 2.02 แสนคน หรือร้อยละ 31.66 ของผู้มีสิทธิ 6.4 แสนคน นอกจากนี้ยังมีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ ซึ่งเป็นจำนวนไม่มาก   

โดยจากข้อมูลการรักษาพยาบาลในระบบบัตรทองฯ ของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่ามีอัตราการใช้บริการสูงเป็น 2 เท่าของทุกกลุ่มอายุ เมื่อดูข้อมูลการรับบริการผู้ป่วยนอกอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 6.33 ครั้ง/คน/ปี ขณะที่กลุ่มอายุทั่วไปจะอยู่ที่ 3.53 ครั้ง/คน/ปี โดยปี 2565 อยู่ที่จำนวน 63.96 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 38.22 ของจำนวนการรับบริการผู้ป่วยนอกทุกกลุ่มอายุ ส่วนการรับบริการผู้ป่วยในอัตราเฉลี่ย อยู่ที่ 0.22  ครั้ง/คน/ปี ขณะที่กลุ่มอายุทั่วไปอยู่ที่ 0.13 ครั้ง/คน/ปี โดยปี 2565 อยู่ที่จำนวน 2.17 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของจำนวนการรับบริการผู้ป่วยในทุกกลุ่มอายุ 


 
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า เมื่อดูข้อมูลการรักษาอาการของผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการมากที่สุด พบว่าในส่วนโรคที่บริการผู้ป่วยนอก 3 อันดับแรก คือ ภาวะความดันโลหิตสูง 8.41 ล้านครั้ง เบาหวาน 4.73 ล้านครั้ง และไตวายเรื้อรัง 9.10 แสนครั้ง ส่วนโรคที่บริการผู้ป่วยใน 3 อันดับแรก คือ ภาวะปอดบวมจากเชื้อไวรัส 1.35 แสนครั้ง หัวใจล้มเหลวแบบน้ำท่วมปอด 6.05 หมื่นครั้ง และไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 5.47 หมื่นครั้ง 
 
เมื่อดูข้อมูลการรักษาโดยเปรียบเทียบกับการรับบริการของทุกกลุ่มอายุพบว่า โรคที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุรับบริการมากที่สุด 3 อันดับแรกของผู้ป่วยนอก คือ โรคต่อมลูกหมากโต ร้อยละ 88.90 จากจำนวนผู้ป่วยทุกลุ่มอายุ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร้อยละ 83.11 จากจำนวนผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ร้อยละ 81.09 จากจำนวนผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ ส่วนโรค 3 อันดับแรกของบริการผู้ป่วยในที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุรับบริการมากที่สุด คือ โรคต้อกระจกในวัยชราจากแก้วตาขุ่นหรือแข็งตัว อยู่ที่ร้อยละ 85.41 ของจำนวนผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ โรคต้อกระจกในวัยชราที่ไม่ระบุรายละเอียด ร้อยละ 82.57 และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการกำเริบร้อยละ 82.32    
 
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลโรคที่ผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิต 3 อันดับแรก คือ โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส 8,769 ราย ปอดบวม 7,779 ราย และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ 3,103 ราย ส่วนโรคที่รับการรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตที่มีสัดส่วนที่สูงกว่าอายุกลุ่มอื่นคือ 3 อันดับแรกคือ ปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เกิดร่วมกับการติดเชื้อเฉียบพลันของทางเดินหายใจส่วนต้น อยู่ที่ร้อยละ 92.92 การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อยู่ที่ร้อยละ 84.74 กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อยู่ที่ร้อยละ 84.34 และปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร อยู่ที่ร้อยละ 83.95     
 
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับการใช้ทรัพยากรเพื่อให้บริการในกลุ่มผู้สูงอายุ60 ปีขึ้นไปนั้น ในส่วนบริการผู้ป่วยใน ระบบบัตรทองฯ พบว่า ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่รับบริการ จำนวนครั้งของการรับบริการ และจำนวนการนอนรักษาในโรงพยาบาลของผู้สูงอายุ มีสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของภาพรวมผู้ป่วยทั้งหมด เฉพาะข้อมูลปี 2565 มีผู้สูงอายุเข้ารับบริการ 1.75 ล้านคน เป็นจำนวน 2.17 ล้านครั้ง และจำนวนวันนอนรักษาในโรงพยาบาล 11.43 ล้านวันนอน ขณะจำนวนการรับบริการของทุกกลุ่มอายุ อยู่ที่ 5.41 ล้านคน เป็นจำนวน 6.20 ล้านครั้ง จำนวนวันนอน 32.56 ล้านวันนอน  

สิทธิประโยชน์บัตรทองของผู้สูงอายุ

 
ส่วนการเข้าถึงบริการตามสิทธิประโยชน์บัตรทองของผู้สูงอายุนั้น ปี 2565 มีข้อมูลดังนี้ บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู 385,377 ราย บริการสาธารณสุขในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 176,553 ราย บริการผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุ 101,615 ราย ฟันเทียมในผู้สูงอายุ 33,687 ราย ผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ 8,678 ราย บริการรักษาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยนอก 9.12 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน จำนวน 9.9 หมื่นครั้ง บริการโรคความดันโลหิตสูง 17.26 ล้านครั้ง และผู้ป่วยใน 3.34 หมื่นครั้ง และบริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วย FIT- test อายุ 50-70 ปี จำนวน 6.22 แสนคน ในจำนวนนี้มีผลผิดปกติ ร้อยละ 7.49 เข้าสู่การรักษา

 
“จากข้อมูลนี้เห็นได้ว่า บัตรทองฯ เราเป็นระบบที่ดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุมากที่สุด มีจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นงบประมาณส่วนหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย สปสช. ได้นำมาใช้เพื่อดูแลผู้สูงอายุนี้ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น อย่างครอบคลุมและทั่วถึงที่สุด และให้ผู้สูงอายุสิทธิบัตรทองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ข้อมูลที่ปรากฏนี้ยังจะเป็นประโยชน์ ทั้งในด้านการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อดูแลผู้สูงอายุต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว