ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา รับเรื่องร้องเรียนจากสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กรณีผลกระทบจากการจัดสรรงบประมาณ UC สำหรับผู้ป่วยนอกโมเดล 5 ในพื้นที่ กทม.

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา บริเวณจุดแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมการการสาธารณสุข วุฒิสภา โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง รับเรื่องร้องเรียนจาก นางศรินทร สนธิศิริกฤตย์ ที่ปรึกษาสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กรณีผลกระทบจากการจัดสรรงบประมาณ UC สำหรับผู้ป่วยนอกโมเดล 5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่พบว่าหน่วยบริการปฐมภูมิได้รับผลกระทบจากการจัดสรรงบประมาณ UC โมเดล 5 ในปี 2566 และ 2567 อย่างรุนแรงจนประสบปัญหาวิกฤต

โดยคลินิกชุมชนอบอุ่นมีมุมมองต่อการบังคับใช้และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ส่งผลกระทบสำคัญรุนแรงต่อระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เกิดจากการบริหารกองทุนที่ไม่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงผลกระทบ และการคาดการณ์ที่มีการใช้เงินจากการจ่ายและการเพิ่มการบริการแบบปลายเปิดภายใต้งบประมาณแบบปลายปิด ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารงบประมาณ และการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่มีการดำเนินการแล้วหรือรักษาไปแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566

ขณะที่แนวโน้มว่าเงินงบประมาณแบบปลายปิดของกรุงเทพมหานครจะหมดในเร็ววันจากการบริหารของ สปสช. ทั้งหมดนี้คือการทำลายระบบสุขภาพตั้งแต่หน่วยบริการปฐมภูมิ ตติยภูมิ และ Excellence Center ในวงกว้าง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั้งเรื่องปัญหาและแนวทางแก้ไข สมาคมฯ ได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้วถึง 2 ครั้ง และได้มีการส่งเรื่องต่อไปยัง สปสช. รับทราบปัญหามาโดยตลอด แต่พบว่าหน่วยบริการสุขภาพฯ ไม่ได้รับการแก้ไขหรือดำเนินการเพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของหน่วยบริการแต่อย่างใด

ด้านสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น ระบุว่า ผลกระทบต่อระบบสุขภาพการตามจ่ายหลังมีการให้บริการของ สปสช. เป็นสิ่งที่ผู้บริหารการเงินต้องรับผิดชอบต้องเร่งให้มีการจัดทำระบบข้อมูลที่ครอบคลุมครบถ้วนเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์ก่อนเดินหน้านโยบายใหม่ เพราะปัจจุบันปัญหาได้ส่งผลกระทบตามมาต่อระบบบริการสุขภาพและสุขภาพของประชาชนโดยรวม ด้วยผลกระทบระยะสั้นประชาชนที่จำเป็นต้องเข้าถึงบริการตติยภูมิไม่สามารถเข้าถึงบริการได้เพราะ กทม.คือศูนย์กลางของประเทศโรงพยาบาลทั่วประเทศจะส่งผู้ป่วยเกินศักยภาพระดับเขตเข้า กทม. ส่วนผลกระทบระยะยาวระบบปฐมภูมิเสียหายไม่มีการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคขาดการดำเนินการตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัวผู้สูงวัยมากขึ้นและมีภาวะโรคสูงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเสียหายเนื่องจากวัยทำงาน 1 คนต้องรับภาระค่าใช้จ่าย สัดส่วนกลุ่มวัยชราที่ป่วยถึง 2 คน

ขณะที่ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไว้ และจะดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป

 

ข้อมูลจาก : เฟสบุ๊กวุฒิสภา