ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ เตรียมเข้าพบ “รมว.ชลน่าน” 14 ก.พ.นี้ หลังร้องสปสช.ปมเบิกจ่ายเงิน ทำรพ.ขาดทุน แบกรับต้นทุนไม่ไหว  ร้อง สปสช.ช่วยแก้ไขมากว่า 5 ปี แต่ไร้วี่แวว  พร้อมเสนอ รมว.สาธารณสุข ขอแยกผู้ซื้อ-ผู้บริการออกจากกัน (Purchaser-Provider Split)  จัดตั้งเป็นบอร์ด Provider  ที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย พร้อมยืนยันไม่กระทบบริการปชช.-30 บาทรักษาทุกที่

ตามที่เครือข่ายแพทย์ 4 สถาบัน ประกอบด้วย เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย  ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป  ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ และ สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น  ประสานขอเข้าพบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ถึงทางออกในการแก้ปัญหาเรื้อรังเรื่องการจ่ายเงินค่าบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ไม่เพียงพอ ทำให้รพ.แบกภาระงบประมาณเองนั้น

4 สถาบันแพทย์ขอพบ รมว.ชลน่าน 14 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (UHosNet) ให้สัมภาษณ์ว่า  เรื่องนี้เป็นปัญหาคาราคาซังมานาน ทางเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ทำหนังสือถึง สปสช.แทบทุกครั้งมากกว่า 5 ปีแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งๆที่สถานการณ์ ค่าครองชีพต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่สปสช.ยังกลับจัดสรรงบประมาณตามเดิม และยังมีการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเป็นโมเดล 5 ซึ่งทำให้ยิ่งมีปัญหาการเบิกจ่ายงบอีก ทั้งๆที่กลุ่มที่เกี่ยวข้องก็ไม่เห็นด้วย

“ที่ผ่านมาเราก็ยังบริการประชาชนเช่นเดิม เพราะเราไม่ได้ต้องการให้ประชาชนเดือดร้อน แต่มาถึงตอนนี้เราแบกรับไม่ไหว และสปสช.ก็ยังไม่ทำอะไร จึงเป็นที่มาให้เครือข่ายฯ ประสานขอเข้าพบท่านชลน่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 10.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ” ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุดเลขาธิการสปสช.ให้ข่าวว่าจะหารือเรื่องนี้ภายในสัปดาห์หน้า ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า  มีการประสานเข้ามา แต่ถ้าภายในสัปดาห์หน้าขอเข้าพบท่านรัฐมนตรีว่าการ สธ.ก่อน ซึ่งจริงๆเครือข่ายฯ รอ สปสช.มานานมาก รอมาหลายปีมากแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ปฏิเสธพูดคุย แต่ขอหารือกับผู้ใหญ่ก่อน

ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญ สปสช.จะทำอะไรต้องดูผู้ให้บริการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ไม่ใช่จะทำอะไรก็ไปอยู่ฝ่ายเดียว แต่ไม่ดูคนรอบข้าง ไม่ดูคนเกี่ยวข้องเลย ความสำเร็จบนหยาดเหงื่อ บนหยดเลือดของคนบริการแบบนี้ ไม่ถูกต้อง ก็เหมือนอยู่ในรพ.ก็ต้องดูบุคลากรด้วย  

(ข่าวอัปเดต : เครือข่าย รร.แพทย์พบ “ชลน่าน” เร็วขึ้น 13 ก.พ. สางวิธีคิดเงินสปสช.โมเดล “2 หรือ 5” แบบไหนดี)

ต้นทุนเท่าไหร่ถึงเพียงพอ ต้องหารือร่วมกันในรายละเอียด

เมื่อถามว่าต้นทุนจริงๆทางสปสช.ควรจัดสรรอย่างไร ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ต้องดูภาพรวมทั้งหมด แต่สิ่งที่อยากให้เข้าใจ สปสช.เกิดมากี่ปี ไม่เคยปรับอะไร มีงบประมาณก็เพิ่มสิทธิประโยชน์ แต่ต้องดูความเป็นจริง การเพิ่มสิทธิประโยชน์เป็นสิ่งดี แต่ปัญหาเก่าต้องแก้ไขก่อน อย่าง 20 ปีที่ผ่านมาค่าก๋วยเตี๋ยวราคากี่บาท ตอนนี้ราคากี่บาท ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ทำหนังสือคอมเพลนไปไม่รู้เท่าไหร่ ทำเป็นเอกสารกองใหญ่แล้ว ไม่เข้าใจว่าตั้งหลายปี แต่กลับไม่ทำ

“ขอให้กลับไปดูญี่ปุ่น สิงคโปร์ อังกฤษ มีช่องทางดำเนินการเยอะแยะ สปสช.ลองไปดูก่อน จะให้เราไปทะเลาะกับคนป่วยเอง เราไม่ทำ เรายังคงให้บริการตามเดิม แต่เรื่องการจัดสรรเงิน ทางสปสช.ต้องแก้ไข ไม่ใช่ให้เราทนมานานหลายปี หลายที่ใช้เงินบำรุงกันเอง ตอนนี้ก็ไม่ไหว หลายที่บุคลากรขาดแคลนอีก จะเอาเงินตรงไหนไปพัฒนาคน วันนี้อาจดี แต่หากไม่แก้ ทนไปเรื่อยๆ จะแย่ลง ดังนั้น เราต้องมาดูภาพรวมร่วมกันทั้งหมด มาช่วยกันออกแบบให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ทุกอย่างยืนพื้นที่ สปสช.เสนอและบอกว่า ทุกอย่างเป็นที่บอร์ดพิจารณา ถ้าไม่มีคนเสนอ บอร์ดจะพิจารณาอย่างไร” ประธานยูฮอสเน็ต กล่าว

ยกเลิกโมเดล 5 วิธีจ่ายเงินที่กระทบหน่วยบริการกทม.

ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ระบบบริการต่างๆ ควรร่วมกันออกแบบ ไม่ใช่สปสช.ออกแบบเอง อย่างโมเดล 5 ที่เป็นปัญหาปัจจุบันก็เพราะอะไร ก่อนหน้านี้ทักท้วงแต่ก็ไม่ฟัง ผู้บริหารก็ไม่รับผิดชอบ มีโยนไป อปสข. ซึ่งเป็นสปสช.เขตพื้นที่ โยนกันไปมาแบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า อปสข. จะคิดโมเดล 5 ได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่ผู้บริหารและมีการผลักดันใช้กัน ส่วนกรรมการใครจะคิด ประชุมกันไม่กี่ชั่วโมงก็จบ ดังนั้น เมื่อทำอะไรที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ควรมาคุยกัน และควรหารือกันตั้งแต่แรกๆ ไม่ใช่มาจนถึงตอนนี้กลายเป็นปัญหา เรื่องนี้ไปถามประธาน อปสข.ได้เลขว่า จะมีส่วนรับผิดชอบกับโมเดล 5 ที่ตอนนี้คลินิกในกทม.กำลังมีปัญหา งบไม่เพียงพอ ต้องแบกรับกันเอง

 

หนุนตั้ง Provider board เหตุสปสชงเป็นผู้ซื้อไม่เข้าใจระบบบริการมากพอ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเครือข่ายฯสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรสถานพยาบาล (Provider board)  เพราะอะไร  ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เครือข่ายฯเสนอให้มีการจัดตั้ง Provider board เนื่องจากผู้จ่ายเงิน อย่างสปสช. อยู่ในฐานะ   Purchaser  ซึ่งรับเงินรัฐบาลมาบริหาร แต่ไม่รู้เรื่องระบบบริการดีเท่ากับผู้ทำบริการ เห็นได้ชัดจากกรณีการระบาดของโควิด19 ที่ผ่านมา สปสช.เป็นผู้จ่ายเงินอยู่ข้างหลัง แต่หน่วยบริการทั้งหมดเป็นผู้จัดระบบบริการประชาชน ดังนั้น ระบบบริการต้องขึ้นด้วย Provider เพียงแต่จะให้รัดกุมและเหมาะสมขอให้มาทำด้วยกัน อย่างกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม มีอะไรก็จะพูดคุยกับสถานพยาบาลตลอด ดังนั้น สปสช.ก็ควรพูดคุยด้วยเช่นกัน

“ผมชื่นชมสมัยนพ.วินัย สวัสดิวร เป็นเลขาธิการสปสช. เนื่องจากแก้ปัญหารวดเร็ว แทบไม่ต้องมีหนังสือร้องไปถึงสปสช.  แค่พูดคุยกันในห้องประชุม หรือทางโทรศัพท์ แก้ไขให้ทันที จึงอยากให้ยุคนี้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขอย่างรวดเร็วกว่านี้” ประธานยูฮอสเน็ต กล่าว

เมื่อถามว่าปัญหาการเบิกจ่ายจะกระทบกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวหรือไม่ ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เป็นเรื่องดีทำให้ประชาชนสะดวก และเข้าถึงบริการได้มากขึ้น แต่ปัญหานี้เป็นเรื่องการเบิกจ่ายเงินของสปสช. ซึ่งต้องมาหาทางออกร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เครือข่ายแพทย์ 4 สถาบัน ได้ทำหนังสือถึง นพ.ชลน่าน โดยส่วนหนึ่งได้ระบุถึงปัญหาเงินที่สปสช.จ่ายไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งยกตัวอย่างรพ.ในสังกัดสธ. ว่า  ต้นทุนในหน่วยบริการโรงพยาบาลศูนย์ และ โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของผู้ป่วยในอยู่ที่ 13,142 บาท ต่อ 1AdjRW แต่สปสช.กลับจ่ายในอัตรา 8,350 บาท ต่อ 1AdjRW หรือ ร้อยละ 63 ของต้นทุนบริการมาตลอดในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการปรับเพิ่มอัตราจ่ายให้หน่วยบริการแต่อย่างใด

 อ่านเพิ่มเติม : เครือข่ายโรงเรียนแพทย์เผยปัญหาการเบิกจ่ายของสปสช. 14 ก.พ. นี้ ตบเท้าพบ"หมอชลน่าน"

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :

-ผูกขาด ไร้ทางเลือก หมดช่องทางเจรจา ต้นเหตุ ‘Purchaser-Provider Split’ สะดุด