ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์ ลงนามร่วมมือวิจัยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์คุณภาพมาตรฐานเพื่อผู้ป่วย โรคมะเร็งที่แพ้คีโม โรคลมชัก ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาท เพิ่มวิจัยกลุ่มผู้ป่วยพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ มะเร็งชนิดต่างๆ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรมเป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ระหว่าง กรมการแพทย์กับองค์การเภสัชกรรม โดยมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ลงนาม

นพ.โสภณ เมฆธน

นพ.โสภณ กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมและกรมการแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมรองรับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ มาตรฐานสากลและได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งพบว่ากัญชามีสารแคนนาบินอยด์ที่มีออกฤทธิ์ยับยั้ง กระตุ้น ช่วยปรับสภาวะสมดุลของระบบประสาท ฮอร์โมนภูมิคุ้มกันและระบบอื่นๆ ของร่างกาย ทั้ง 2 หน่วยงานจึงได้ร่วมมือกันทำการวิจัยและพัฒนาสารสกัดกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีสัดส่วนปริมาณสารสำคัญ THC และ CBD เหมาะสมตามความต้องการทางการแพทย์ รวมทั้งการศึกษาความคงสภาพ การศึกษาวิจัยทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางพรีคลินิก และการวิจัยทางคลินิก ตลอดจนการบริหารทางวิชาการ การบริหารจัดการข้อมูลด้านกัญชาทางการแพทย์ในมิติต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเป็นระบบ พัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมกันเพื่อให้การใช้กัญชาทางการแพทย์ มีประสิทธิผลประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา บรรเทา อาการได้

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การฯจะดำเนินการวิจัย พัฒนาและผลิตสารสกัดกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีสัดส่วนปริมาณสารสำคัญ THC และ CBD เหมาะสมตามความต้องการทางการแพทย์ พร้อมทั้งการศึกษาความคงสภาพและการรับรองคุณภาพของสารสกัดและผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางพรีคลินิก และการวิจัยทางคลินิก รวมทั้งจะผลิตเป็นสารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น 3 สูตร สูตรที่ 1 THC สูงกว่า CBD สูตรที่ 2 CBD สูงกว่า THC และสูตรที่ 3 สัดส่วน THC และ CBD 1 ต่อ 1 สำหรับหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 2,500 ขวด ที่ผลิตออกมาได้ตามโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ระยะที่ 1 ที่องค์การเภสัชกรรม อำเภอธัญบุรี ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ และจะผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องทุก 4 เดือนๆ ละ 2,500 ขวด

นอกจากนั้นในประมาณต้นปี 2563 จะเริ่มทำการผลิตสารสกัดกัญชาตามโครงการระยะที่ 2 ที่จะขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ขององค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งจะสามารถผลิตสารสกัดกัญชาได้เพิ่มมากขึ้น ประมาณ 8 เท่า พร้อมทั้งจะเพิ่มรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเหมาะสมตามความต้องการทางการแพทย์และรูปแบบการใช้งานของผู้ป่วย ให้มากขึ้น อาทิ รูปแบบยาเหน็บทวารหนัก แผ่นแปะผิวหนัง แผ่นอมใต้ลิ้น ครีม ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาที่ผลิตได้นี้ องค์การฯจะเน้นการนำไปใช้ในโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษหรือ Special Access Scheme หรือ SAS ซึ่งเป็นช่องทางในการรักษาผู้ป่วยและเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จะดำเนินการศึกษาวิจัยทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางพรีคลินิก และการวิจัยทางคลินิก รวมทั้งการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม เพื่อเป็นยืนยันความมั่นใจ มีข้อมูลวิชาการที่ชัดเจน มีข้อสรุปที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย สำหรับสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมจะนำไปใช้กับการวิจัยกับผู้ป่วย 3 กลุ่ม โดยในขั้นต้นนี้จะเน้นการวิจัยในรูปแบบกับผู้ป่วยในโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme หรือ SAS กับผู้ป่วย 3 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มที่สารสกัดกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษา ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อยา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆแล้วไม่ได้ผล

2.กลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ แต่จะต้องมีข้อมูลทางวิชาการเพิ่มในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัยทางพรีคลินิก และการวิจัยทางคลินิก อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
3.สารสกัดกัญชาอาจมีประโยชน์ในการรักษามะเร็งชนิดต่างๆ แต่จะต้องศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและกับสัตว์ทดลอง ก่อนนำมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัย ครบทั้ง 3 ระดับ คือศึกษาวิจัยทางห้องปฏิบัติการการวิจัยทางพรีคลินิก และการวิจัยทางคลินิก

“องค์การเภสัชกรรม และกรมการแพทย์ ได้ร่วมกันบริหารทางวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนทรัพยากร เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุอุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือวิจัย ตัวอย่างสารสกัดกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์สำหรับการดำเนินงานวิจัย เพื่อให้สามารถดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการบริหารทางวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยที่ได้พัฒนาขึ้น ตลอดจนให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว