ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2555 คุณคณิศ แสงสุพรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งถือว่าเป็นสายตรงของพรรคเพื่อไทยที่ส่งเข้ามาควบคุมกำกับงานด้านการคลังสุขภาพโดยเฉพาะ ได้กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ในที่ประชุมผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

เมื่อได้ยินเช่นนั้นรู้สึกดีใจที่รัฐบาลมองเห็นและเข้าใจปัญหาเรื่องนี้แต่อดคิดไม่ได้ว่างานนี้คงไม่มีอะไรในกอไผ่ และไม่ต่างกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ3 กองทุน เรื่องไตวายเรื้อรังที่ออกมาหลอกลวงชาวบ้านให้เข้าใจผิด คิดว่าเป็นมาตรฐานเดียว ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ใช่ โดยมีประเด็นแลกเปลี่ยนดังนี้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนผู้ประสบภัยจากรถนั้นไม่เหมือนกองทุนอื่นๆเช่น บัตรทองหรือประกันสังคม ที่รัฐเป็นผู้ดูแลเองกองทุนผู้ประสบภัยจากรถนั้นมีบริษัทเอกชนเป็นผู้ดูแล การจ่ายเบี้ยประกัน การขอเงินชดเชยต่างๆ ล้วนเป็นธุรกรรมที่ประชาชนทำกับบริษัทเอกชนโดยตรง เช่นเดียวกับการซื้อประกันรถยนต์ ชั้น 1 ด้วยเหตุนี้บริษัทเอกชนย่อมถือเอากำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะการออกแบบระบบผิดตั้งแต่ต้นที่ให้เอกชนเป็นผู้บริหาร แทนที่จะให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง

การบริหารจัดการด้วยบริษัทเอกชนที่ถือกำไรเป็นที่ตั้ง ในแต่ละปีประชาชนตาดำๆ หาเช้ากินค่ำ ซึ่งใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ต้องนำเงินมาจ่ายบริษัทประกันภัยเอกชน ถ้าคิดรวมกันในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ขณะที่มีผลประโยชน์ตอบแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลและชดเชยอื่นๆคืนกลับมาให้ประชาชนเพียง 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี ที่เหลือคือค่าบริหารจัดการและกำไรมหาศาลของบริษัทเอกชนเหล่านั้น ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่บริษัทในประเทศไทย และมีคนได้รับผลประโยชน์จากเม็ดเงินก้อนนี้เพียง 200-300 คนเท่านั้น

ขณะที่ประชาชนเมื่อประสบอุบัติเหตุก็เบิกจ่ายด้วยความยุ่งยาก ต้องใช้เอกสารมากมายในที่สุดทั้งคนไข้และโรงพยาบาลก็ต้องพร้อมใจกันเลี่ยงไปใช้สิทธิอื่นๆเช่น บัตรทองหรือประกันสังคมแทน ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้วจะต้องใช้จาก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ

มิหนำซ้ำกองทุนประกันสังคมยังเปิดโอกาสให้ผู้ประสบภัยจากรถแต่มีประกันสังคม ก็สามารถเบิกจ่ายจากกองทุนประกันสังคมได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ต้องบอกว่าไม่รู้ว่าโง่หรือบ้า เพราะกองทุนประกันสังคมตัวเองยังเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ยังจะไปอุ้มกองทุนที่มีกำไรมหาศาล ทำให้ทั้งสามกองทุนรักษาพยาบาลหลักๆ ต้องขาดทุนกว่า5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี ตามที่คุณคณิศชี้แจง

ถามว่าในอดีตที่ผ่านมา ไม่มีใครรู้ใครสนใจเรื่องนี้เลยหรือขอตอบว่า ไม่ใช่ มีความพยายามกันมากมายหลายครั้ง ทั้งฝั่งองค์กรเอกชน นักวิชาการ และรัฐบาลบางยุค หรือแม้กระทั่งล่าสุดในยุค สนช. ได้มีการตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ส่วนในฝั่งนักวิชาการก็ได้ร่าง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถฉบับใหม่ไว้รอแล้ว เพื่อให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะมีกำลังภายในผ่านผู้ใหญ่ของ สนช.ในขณะนั้นค้านเต็มที่ ทั้งๆ ที่รู้กันอยู่เต็มอกว่าประชาชนเดือดร้อน

ต่อมาถึงรัฐบาลจากการเลือกตั้งสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นออกมาแสดงท่าทีอย่างขึงขังว่าจะแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น แต่ไม่เกิน 1 เดือน เรื่องนี้ก็เงียบหายไปในอากาศเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างดีว่าบริษัทประกันภัยเอกชนเหล่านี้มีกำลังภายในมากมายและพร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์มหาศาลของเขา

หากถามถึงความจำเป็นต้องปฏิรูปหรือไม่ต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (Health Expenditures) ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พบว่าปี 2551 เราใช้อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ของ GDP ซึ่งถือได้ว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับปานกลาง (Middle-Income Countries) อยู่ที่ร้อยละ 6 ของ GDP เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นว่าในภาพรวมทั้งประเทศ เราใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเท่ากับที่เราควรใช้แล้ว

บัตรทองก็มีเม็ดเงินเหมาจ่ายรายหัวในช่วง10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มกว่า 300% ขณะที่ข้าราชการใช้เงินค่าหัวกว่า 5 เท่าของบัตรทอง แต่ระบบประกันสุขภาพของไทยกลับมีความไม่เป็นธรรมเหลื่อมล้ำคนจนถูกรีดเงินเข้าสู่ระบบผู้ประสบภัยจากรถ โจทย์เรื่องนี้ในทศวรรษหน้าจึงท้าทายยิ่งสำหรับพรรคการเมือง นักวิชาการและคนไทยทุกคน

มาถึงครั้งนี้ที่คนของรัฐบาลออกมาทำท่าขึงขัง บอกว่าจะมีการปฏิรูป พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นภาระกับประชาชนโดยไม่จำเป็น ปัจจุบันทุกคนมีสิทธิรักษาพยาบาลถ้วนหน้าแล้ว และถึงขั้นจะให้มีการแก้ไขกฎหมายเรื่องกฎหมายไม่ต้องห่วงเลยครับมีหลายร่างที่เตรียมไว้แล้ว รอแต่ให้การเมืองผู้มีอำนาจตัดสินใจเดินหน้าเท่านั้น

แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่างานนี้มวยล้มต้มคนดูครับพี่น้อง ไม่มีทางที่คณะกรรมการร่วม 3 กองทุน ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธาน จะผ่านเรื่องนี้ได้ป่านนี้บริษัทประกันเอกชนวิ่งกันขาขวิด ไม่ยอมให้เรื่องนี้ผ่านง่ายๆแน่ ที่สำคัญระวังชาวบ้านและนักวิชาการอย่างผมจะเชื่อไปแล้วว่างานนี้มีวัตถุประสงค์อย่างอื่นแอบแฝง

จุดสำคัญของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ความจริงใจของรัฐบาลว่า จะเลือกผลประโยชน์ของใครเป็นที่ตั้ง ประชาชนหรือบริษัทประกันเอกชน เพราะหากปล่อยเช่นนี้ก็เท่ากับรัฐบาลปล่อยให้พวกเศรษฐีมาขูดเลือดขูดเนื้อจากคนจนเป็นประจำทุกปี ปีละกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท

แต่ถ้าครั้งนี้รัฐบาลทำได้สำเร็จจะขอเลี้ยงโต๊ะจีนคุณคณิศ แสงสุพรรณ สักมื้อ และจะบอกดังๆ ว่า "รัฐบาลเพื่อไทยนายแน่จริง"แต่ถ้างานนี้มีแต่ราคาคุย เป็นมวยล้มต้มคนดู ผมจะส่งไบกอนเขียวให้สักโหล เอาไว้ฉีดแมงโม้แถวๆ บอร์ด สปสช. คราวหน้าคราวหลังทำให้ได้ก่อนแล้วค่อยโม้ครับพี่น้อง

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 ตุลาคม 2555