ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเร่งรัฐรวม 3 กองทุนสุขภาพ แนะเก็บ'ภาษี'ตามอัตรารายได้สมทบกองทุนเพื่อให้ระบบยั่งยืน

นายจอน อึ๊งภากรณ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวในการอภิปรายกลุ่ม "ความมั่นคง ความยั่งยืน ของระบบหลักประกันสุขภาพ : ระบบการเงินการคลังที่เป็นธรรม เหมาะสมกับสังคมไทย" ในการประชุมภาคประชาชน "หนึ่งทศวรรษการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ว่า ขณะนี้เริ่มมองเห็นคนชั้นกลางที่เคยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน เข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์มากขึ้น และต่างทยอยเข้าระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่หากประชาชน ทั้งประเทศใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งบประมาณของชาติจะไม่เพียงพอ

"ดังนั้น ใน 10 นับจากนี้ไป ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมที่ไม่ใช่ในลักษณะการร่วมจ่าย 30 บาท แต่ควรร่วมในลักษณะซัพพลีเมนต์ (Supplement) คือ การเก็บเพิ่มเติมขึ้นมาจากภาษีปกติ โดยทุกคนที่เสียภาษีจะจ่ายตามอัตราภาษี ไม่เท่ากัน อาทิ คนมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาท ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 หรือจ่ายปีละ 500 บาท เพื่อเป็นค่าประกันสุขภาพ เฉลี่ยประมาณเดือนละ 40 บาทนั่นเอง ส่วนคนที่เงินเดือนสูงกว่า อาจจ่ายร้อยละ 10 หรือประมาณ 1,000 บาทต่อปี เป็นต้น ส่วนคนที่มีรายได้ต่ำก็ไม่ควรจัดเก็บภาษีสุขภาพ วิธีการนี้จะทำให้ระบบสุขภาพเดินไปได้อย่างยั่งยืน" นายจอนกล่าว และว่า วิธีการนี้จะทำให้ขนาดของโรงพยาบาลเอกชนเล็กลง และหากสามารถทำควบคู่โดยจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มากขึ้น จะไม่มีปัญหาโรงพยาบาลรัฐถูกดึงบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

นายจอนกล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการรวม 3 กองทุนสุขภาพของรัฐนั้นต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะเกิดในลักษณะเอาเรื่องการบริการสุขภาพมารวมกัน คือ ให้ผู้ประกันตน และผู้ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไปใช้บริการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ

ด้าน น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาของระบบการเงินการคลังของระบบเบิกสุขภาพไทย คือ มีระบบเบิกจ่ายตามจริง กับระบบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลไม่เท่าเทียม ทั้งการเลือกสถานที่ในการรับการรักษา คุณภาพการรักษา ขณะที่ระบบประสังคม กลับเป็นระบบที่ต้องจ่ายเงิน ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่าย ส่วนการบริการจัดการกองทุนประกันสุขภาพนั้น เนื่องจากทั้ง 3 กองทุนแยกส่วน ทำให้เกิดต้นทุนในการบริหารจัดการที่ซ้ำซ้อน และขาดอำนาจต่อรองในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์

"รูปแบบการคลังของระบบประกันสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีเพียงระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการของภาครัฐ อย่างใดอย่างหนึ่ง อยู่ระบบไหนก็ต้องอยู่ระบบนั้นตลอด ไม่ใช่โอนไปโอนมา มีข้อเสนอว่า อาจไม่จำเป็นต้องรวมกัน เพราะกลุ่มอาชีพต่างกัน มีความต้องการต่างกัน แต่ต้องมีแกนหลัก โดยให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นพื้นฐานของคนทุกคน ส่วนประกันสังคมหากจะเก็บเงินก็ควรเก็บเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่ให้เพิ่มเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ไม่ใช่ซ้ำซ้อน เช่น มีการชดเชยเวลาป่วย หรือลางาน หรือสิทธิการรับบริการในโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ" น.ส.เดือนเด่นกล่าว

ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 24 ตุลาคม 2555