ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สปส.ว่า ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ลดอัตราการส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 2 ในปี 2556 และร้อยละ 1 ในปี 2557 เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ โดยยืนยันตามมติเดิมคือลดอัตราส่งเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในอัตราเท่ากันคือ ร้อยละ 1 ในปี 2556 จากปกติต้องส่งเงินสมทบฝ่ายละร้อยละ 5 "หากลดเงินสมทบตาม ข้อเสนอรวม 2 ปี คือร้อยละ 3 เงินกองทุนจะหายไปรวมกว่า 9 หมื่นล้านบาทจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว" นพ.สมเกียรติกล่าวและว่า ที่ประชุมยังให้ สปส.ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินในโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจที่ขณะนี้มีวงเงินเหลืออยู่กว่า 9,000 ล้านบาท

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะให้ สปส.สรุปสถานะกองทุนประกันสังคมโดยภาพรวมว่า หลังปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทแล้ว กองทุนประกัน สังคมมีเงินเพิ่มขึ้นเท่าใด และมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคมทำให้กองทุนเงินหายไปเท่าใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในปี 2556 มีผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 รวม 10,368,499 คน หากจัดเก็บเงินสมทบในอัตราปกติ สปส.จะมีเงินเข้ากองทุน 171,140 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินมาตรา 33 จำนวน 129,400 ล้านบาท หากเมื่อลดเงินสมทบอัตราร้อยละ 1 เงินจะหายไป 25,880 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 มี 973,217 คน หากจัดเก็บในอัตราปกติร้อยละ 9 กองทุนประกันสังคมจะมีเงิน 5,410 ล้านบาท และเมื่อลดเงินสมทบอัตราร้อยละ 2 เงินจะหายไป 1,080 ล้านบาท รวมในปี 2556 เงินสมทบของ สปส.ในส่วนของประโยชน์ทดแทน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต จะหายไป 26,960 ล้านบาท

--มติชน ฉบับวันที่ 20 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--