ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยกรณี สปสช.มีแนวคิดดูแลผู้สูงวัยผ่านกองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งอาจมีการเก็บเบี้ยประกันสุขภาพวัยชรา โดยจะศึกษาต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่นว่า เรื่องการดูแลผู้สูงอายุนั้นต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การดูแลในเรื่องการแพทย์และสังคม และ 2.การวางระบบในเรื่องของการบริหารการเงิน ซึ่งขณะนี้ทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสม โดยข้อเสนอในการตั้งกองทุนผู้สูงวัย โดยอาจมีการเก็บเบี้ยผู้สูงวัยนั้น เป็นเพียงแนวคิดยังไม่ได้ชี้ขาดว่าจะเป็นรูปแบบนี้หรือไม่ ซึ่งการจะเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นก็เพื่อให้ทราบว่าประเทศญี่ปุ่นมีการบริหารจัดการผู้สูงวัยอย่างไรบ้าง เนื่องจากมีผู้สูงวัยจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยต้องพิจารณาหลายเรื่อง หลักๆ คือ จะทำอย่างไรในการดูแลคนกลุ่มนี้ไม่ให้ต้องไปอยู่แต่ในบ้านพักคนชรา แต่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมในบ้านของตัวเอง ซึ่งอาจต้องมีคนไปดูแลที่บ้าน เรื่องนี้กำลังหารูปแบบอยู่

"ผมได้คุยกับเลขาธิการ สปสช.แล้วว่าเป็นไปได้หรือไม่หากมีแนวคิดในการดูแลคนแต่ละกลุ่มขึ้น อาจเป็นกองทุนย่อยที่อยู่ในสปสช. เช่น กองทุนดูแลโรคพิเศษ เด็กสมาธิสั้น หรือกองทุนดูแลกลุ่มด้อยโอกาส กองทุนดูแลผู้หญิง กองทุนดูแลผู้สูงวัย ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ยังไม่ได้ข้อสรุป อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบว่า จะออกมาลักษณะใด หากได้รูปแบบชัดเจนจึงจะมาวางแนวทาง จากนั้นจึงพิจารณาว่าแต่ละกองทุนจะใช้งบประมาณเท่าใด แหล่งที่มาของเงินจะมาจากแหล่งใดซึ่งจุดนี้จึงจะคิดว่าควรเรียกเก็บเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มหรือไม่ หรือจะเป็นลักษณะใดขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล คงต้องใช้เวลา" นพ.ประดิษฐกล่าว

นางสายชล ศรทัตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง กล่าวถึงกรณีที่ สปสช.จะมีการหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม(สปส.) และกรมบัญชีกลาง ถึงความร่วมมือในการขยายสิทธิบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐกรณีผู้ป่วยมะเร็งว่า หากจะมีการขยายสิทธิจริง ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้ป่วยมะเร็งเป็นบุคคนที่น่าสงสารและต้องทนรับกับความเจ็บปวด

"หากมีการให้สิทธิดังกล่าวจริง ขอให้เปิดโอกาสในการรักษามะเร็งแบบผสมผสาน โดยการประยุกต์ใช้ทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาสมุนไพรโบราณ เนื่องจากทุกวันนี้สมุนไพรที่ใช้ในการรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพมาก แต่ยังขาดการพัฒนาและส่งเสริม จึงอยากให้การรักษาเป็นแบบประยุกต์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลงเพราะยามะเร็งส่วนใหญ่จะมีราคาแพงและเป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ โดยมะเร็งบางชนิดต้องเสียค่ารักษาเป็นเงินเกือบล้านบาททำให้คนรวยรักษาได้ แต่คนจนไม่มีสิทธิ" นางสายชลกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 มกราคม 2556