ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สธ. ชี้ต้นทุน-ค่าแรงเพิ่ม เตรียมขึ้นค่ารักษาพยาบาลใหม่ ในระดับที่เหมาะสม หลังคงอัตราเดิมมากว่า 10 ปี ชี้ ระบุไม่กระทบประชาชนเหตุมี  3 กองทุนสุขภาพจ่ายแทนอยู่แล้ว ขณะที่ สปสช.ยันไม่กระทบเหตุจ่ายแบบปลายปิดพร้อมใช้เป็นเหตุผลของบประมาณเพิ่ม ชี้ถ้าจะมีผลกระทบคงอีก 3 ปีข้างหน้า

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า สธ. เตรียมปรับค่ารักษาพยาบาล ว่าการทบทวนค่าบริการคงเป็นการคิดตามต้นทุนที่ควรจะเป็น แต่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเพิ่มค่าแรง 300 บาท หรือเงินเดือน 15,000 บาท

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดสธ. กล่าวว่า เรื่องนี้คิดมาประมาณ 1 ปีมาแล้ว โดยดูต้นทุน ค่าแรงอะไรต่าง ๆ โดยเคยมีการประชุมและทบทวนไปแล้วครั้งหนึ่งและมีการเสนอแนะประเด็นต่าง ๆ ซึ่งได้ให้ทีมเลขานุการไปปรับแก้ ถ้าไม่มีอะไรจะเสนอให้ปลัด สธ. ลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนนี้กำลังตามอยู่และอยากเร่งให้เร็วที่สุด สำหรับการปรับค่าบริการจะปรับทั้งหมด เช่น ค่าทำหัตถการ กรณีนอนไอซียู  จะมีบอกไว้หมด ส่วนจะเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์นั้นจำตัวเลขไม่ได้ ทั้งนี้เหตุที่ต้องปรับค่าบริการใหม่เนื่องจากไม่มีการปรับมาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ราคาขึ้นทั้งหมด

"การปรับค่าบริการตรงนี้เหมือนเป็นราคาขายของ สธ. แต่ว่ากระทรวงอื่นก็มาร่วมช่วยกันดูด้วย เช่น เรื่องรังสี ค่าเอกซเรย์ก็มีทีมผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิด การผ่าตัด หรือการดมยาสลบก็มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิดเช่นกัน อย่างไรก็ตามจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเพราะผู้ใช้บริการมี 3 กองทุนสุขภาพจ่ายแทนอยู่แล้ว" รองปลัด สธ. กล่าว

ส่วน ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รพ.ศิริราช ก็เตรียมปรับเพิ่มค่าบริการในระดับที่เหมาะสม เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเตียง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาประกาศปรับอัตราค่าบริการของ สธ. ที่กำลังจะปรับขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าน่าจะปรับตามได้ภายในปี 2556 นี้

ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการปรับค่าบริการ เพราะ สธ. ถูกมองราคาถูกมานาน และไม่เคยปรับราคาค่าบริการมานานมาก  รัฐบาลมองราคาเดียวกว่า 10 ปี ทำให้การดูแลงบประมาณค่ารักษาพยาบาลไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งต้องยอมรับว่าต้นทุนของทุกอย่างต้องอิงตามความเป็นจริง

"เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สธ. เคยมีการทำราคาค่าบริการมาแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ เพราะกรมบัญชีกลางไม่เห็นด้วยแย้งว่าแพงไป จากนั้นก็ไม่ได้ใช้จนบัดนี้ โดยฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันใช้มากว่า 15 ปีแล้ว  เท่าที่ทราบตอนนี้โรงแพทย์แต่ละแห่งก็ปรับค่าบริการอยู่เรื่อย ๆ ต่างคนต่างปรับ มีแต่ สธ. ไม่ได้ปรับ" พญ.ประชุมพร กล่าว

ทางด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าการที่ สธ. จะปรับค่าบริการขึ้นตามค่าครองชีพและต้นทุนที่แท้จริงเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเป็นคนไข้ในในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่น่ากระทบเพราะว่าเราจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (ดีอาร์จี) และจ่ายแบบปลายปิดอยู่แล้ว แต่อาจมีผลในอนาคต คือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นในปีนี้เวลาเราจะทำดีอาร์จีเวอร์ชั่นต่อไปต้องใช้ต้นทุนปีนี้พอต้นทุนขยับค่าบริการก็ต้องขยับขึ้นตามด้วย แต่จะไม่มีผลกระทบใน 1-2 ปีถ้าจะมีผลคงอีก 3 ปีข้างหน้า

"ค่าบริการที่ปรับขึ้น สปสช. จะใช้เป็นเหตุผลในการขอค่าหัวเพิ่ม ปรับอัตราการจ่ายใหม่ คิดว่าโรงพยาบาลคงจะโวยแน่ ๆ ว่าต้นทุนแพงแต่ สปสช.จ่ายเท่าเดิม เพราะถึงแม้จะเพิ่มค่าบริการแต่ สปสช.ก็ยังจ่ายในราคาเดิม ส่วนผู้ป่วยนอกเราเหมาหัวจ่ายอยู่แล้วคงไม่แตกต่างกัน" โฆษกสปสช. กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 มกราคม 2556