ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รมว.สาธารณ สุขแจงเอง ย้ำ โรงพยาบาลรัฐขึ้นค่ารักษาไม่กระทบประกันสังคมและบัตรทอง 30 บาท ระบบหลักประกันสุขภาพครอบ คลุมค่ารักษาเกือบทั้งหมดไว้แล้ว ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม นอกจากผู้ที่ลัดขั้นตอนไม่ยอมใช้หลักประกันสุขภาพตามหลักเกณฑ์ หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการเท่านั้น และไม่มีผลบังคับกับโรงพยาบาลเอกชนเพราะราคาแพงอยู่แล้ว สำนักการแพทย์ กทม. ก็ขอขึ้นด้วย อ้างโรงพยาบาลในสังกัดอิงตามเกณฑ์ สธ. มาตลอด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณ สุข (สธ.) กล่าวก่อนการประชุมครม. ถึงการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการของสถานบริการในสังกัดว่า ไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อที่ประชุมครม. เพราะเป็นเรื่องที่สธ.ทำได้เอง โดยเมื่อปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและการซื้อยา ร่วมกัน จะช่วยลดต้นทุนค่ายารักษาโรคในปีนี้ประมาณ 4-5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับการพัฒนากำลังคนที่ให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน จะยิ่งทำให้ต้นทุนในเรื่องกำลังคนลดลง

นพ.ประดิษฐเปิดเผยว่า การปรับอัตราค่าบริการครั้งนี้ เป็นเรื่องของค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นมาหลายปีแล้ว ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าบริการไม่ทำให้ประชาชนต้องรับภาระเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนไม่ได้จ่ายอะไรเพิ่มขึ้นเลย ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เนื่องจากอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ประกันสังคม หรือประชาชนทั่วไป ยกเว้นแต่เพียงคนที่จ่ายเงิน 30 บาท ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น ส่วนผู้ที่ต้องจ่ายคือ ชาวต่างชาติ และประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามขั้นตอน เช่น คนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งควรต้องไปใช้บริการในสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อให้ส่งตัวไปรักษาต่อ แต่กลับลัดขั้นตอนไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเลยจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

"ดังนั้น ต้นทุนทุกอย่างเป็นต้นทุนภายในเท่านั้น และจะเป็นต้นทุนที่สะท้อนเพื่อใช้ในการคิดค่ารักษาพยาบาลของชาวต่างชาติในอนาคต เพราะทุกวันนี้ตามพรมแดน เราเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับชาวต่างชาติที่ข้ามแดนเข้ามาปีละประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้จะปรับปรุงวิธีคิดค่ารักษาพยาบาลชาวต่างชาติ ในลักษณะของค่าธรรมเนียมกับผู้ที่ข้ามแดน และอาจหารือในกรอบอาเซียนด้วยว่า ถ้าพลเมืองของประเทศสมาชิกข้ามแดนเข้ามารับการรักษาในไทย จะทำอย่างไร" รมว.สธ.กล่าว

ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่จะขึ้นค่ารักษาพยาบาลอีก เพราะคิดตามต้นทุนปัจจุบัน และมีการปรับขึ้นค่ารักษาอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่า สถานพยาบาลเอกชนแห่งใดที่ปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งรัฐบาลไทยให้การประกันสุขภาพประชาชนทุกคน ดังนั้น จึงไม่ควบคุมภาคเอกชน เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีความสามารถ แต่กำหนดมาตรการขึ้นมาดูแล โดยยึดตามหลักวิชาการให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ในกรณีที่มีข้อข้องใจว่าเป็นการคิดราคาอย่างไม่เป็นธรรม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) จะทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์ต่อไป โดยใช้ขนาดโรงพยาบาล เครื่องมือ การให้บริการมาคำนวณ และแบ่งเป็นเกรดว่า ระดับราคาควรอยู่ตรงไหน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน

นพ.ประดิษฐกล่าวอีกว่า สธ.จัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยขึ้นมา ซึ่งจะเริ่มประชุมใน วันที่ 4 ก.พ.นี้ เพื่อจัดวางระบบการทำงาน หากประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาล แล้วเกิดปัญหาการคิดค่ารักษาพยาบาลไม่ถูกต้อง สามารถมาแจ้งต่อคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งจะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเชิงวิชาการว่า สถานพยาบาลรักษาในสิ่งที่ควรตรวจหรือไม่ เสียเงินโดยไม่จำเป็นหรือไม่ และสถานพยาบาลใช้อัตราการคิดค่ารักษาเหมาะสมหรือไม่ หากพบว่ามีปัญหาคณะกรรมการชุดนี้ไปพูดคุยไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เข้ารับการรักษากับสถานพยาบาล คาดว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะช่วยลดข้อขัดแย้งทางกฎหมายเป็นอย่างดี

ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีสิทธิในหลักประกันสุขภาพ 3 หลักประกันคือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ 6 ล้านคน กองทุนประกันสังคม 9 ล้านคน และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) 48 ล้านคน โดยกองทุนเหล่านี้ทำหน้าที่จ่ายเงินให้สถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น กองทุนประกันสังคม จะจ่ายตามรายหัวที่ขึ้นทะเบียนประกันตนกับสถานพยาบาล กองทุนข้าราชการจ่ายตามจริง และกองทุนบัตรทองจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว โดยแยกการแบ่งจ่ายเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และจ่ายตามกลุ่มโรค หลังจากปรับเพิ่มค่าบริการ กองทุนดังกล่าวยังทำหน้าที่จ่ายเงินตามกติกาของแต่ละกองทุนเหมือนเดิม ประชาชนไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด

"การปรับเพิ่มค่าบริการครั้งนี้เป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำงานย่อมต้องคำนวณต้นทุนที่แท้จริง และเปรียบเทียบรายรับกับรายจ่าย การปรับเพิ่มค่าบริการครั้งนี้ ไม่ได้หวังให้สถานพยาบาลได้เงินเพิ่มขึ้น เพียงแต่ต้องสะท้อนให้เห็นว่า สถานพยาบาลมีต้นทุนที่แท้จริงอย่างไร ส่วนการหารือกับกองทุนต่างๆ ในเรื่องต้นทุนของสถานพยาบาลนั้น เป็นขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต แต่ยืนยันว่าการปรับเพิ่มครั้งนี้ไม่สร้างภาระให้กับประชาชนแต่อย่างใด เนื่องจากประชาชนมีสิทธิตามกองทุนต่างๆ ครอบ คลุมเกือบทั้งหมดอยู่แล้ว" ปลัดสธ.กล่าว

นพ.ณรงค์กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าบริการคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่ต้องบอกว่า ราคาขายอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ และเป็นเครื่องมือบอกว่า โรงพยาบาลจะต้องใช้งบประมาณในการบริหารงานอย่างไร เพราะที่ผ่านมาแต่ละกองทุนที่กำหนดงบประมาณ เพื่อจ่ายให้แก่สถานพยาบาลอาจยังไม่ได้พิจารณาในส่วนนี้ การปรับเพิ่มค่าบริการไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลได้กำไรมากขึ้น หรือทำให้สภาพคล่องเปลี่ยนแปลง เพราะหลักเกณฑ์การจ่ายเงินของแต่ละกองทุนเป็นเหมือนเดิม

นพ.ณรงค์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้จัดทำหลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรแบบใหม่ จากเดิมที่สธ.ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรตามหลักเกณฑ์ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 ฉบับที่ 6 และ 7 พ.ศ.2552 ซึ่งจะจ่ายค่าตอบแทนตามสภาพพื้นที่ที่มีความทุรกันดาร เพื่อชดเชยโอกาสที่ต้องสูญเสียจากการต้องอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยจะมีการปรับเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับใหม่คือ 1.จ่ายตามสภาพพื้นที่ โดยจัดแบ่งกลุ่มระดับพื้นที่กันดารใหม่ เบื้องต้นอาจจะจัดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ปกติ, กันดาร 1, กันดาร 2 และเจริญ ส่วนแต่ละระดับจะได้รับค่าตอบแทนเท่าไหร่อยู่ระหว่างการพิจารณา 2.ตามภาระงาน หรือการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน

"การคิดเกณฑ์พื้นที่ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันหลายพื้นที่ซึ่งเคยกันดาร กลายเป็นพื้นที่เมืองมากขึ้น ถือว่าไม่ได้เสียโอกาสใดไป จึงจำเป็นต้องปรับลดเงินในส่วนดังกล่าวลง แต่จะได้เงินเพิ่มจากภาระงาน ทั้งนี้ ค่าตอบแทนพื้นที่กันดารจะพิจารณาให้โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) เพิ่มด้วย เพราะบางแห่งขาดแคลนและกันดารมากกว่าโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เช่น รพช.ในเขตปริมณฑลอาจจะไม่ได้ ค่าตอบแทนตามพื้นที่ ขณะที่รพท.ในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอน หรืออ.เบตง จ.ยะลา จะได้รับค่าตอบแทนจากความกันดารของพื้นที่หรืออย่างใน จ.สงขลา ร.พ.บางกล่ำ ที่อยู่ใกล้อ.หาดใหญ่ จะได้รับจากส่วนกันดารน้อยกว่าร.พ.สะบ้าย้อย ซึ่งอยู่ห่างไกลกว่า การดำเนินการทั้งหมดต้องทำให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง" ปลัดสธ.กล่าว

นพ.ณรงค์กล่าวเพิ่มว่า ต้องมีการพิจารณาว่าการปฏิบัติงานระดับใดเหมาะสมกับเงินเดือนที่ได้รับ ส่วนการปฏิบัติงานที่เกินจากค่าเงินเดือน จึงจะนำมาใช้พิจารณาเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนตามภาระงาน แม้จะเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่กันดารระดับเดียวกัน แต่โรงพยาบาลหนึ่งมีภาระงานมากกว่า ค่าตอบแทนที่ได้รับจะไม่เท่ากัน การดำเนินการเช่นนี้เป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับบุคลากรทุกพื้นที่ โดยในช่วงกลางเดือนก.พ.นี้ จะประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อรมว.สาธารณสุข คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้

ด้านศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ร.พ.ศิริราชไม่มีการปรับอัตราค่าบริการมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งการปรับอัตราค่าบริการในครั้งนี้จะปรับตามต้นทุนที่เป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด ต้องดูตามแต่ละรายการไป ที่สำคัญการปรับอัตราค่าบริการไม่ได้เป็นการปรับเพิ่มแบบปีต่อปี แต่จะต้องดูแนวโน้มเป็นระยะ 3-5 ปี และต้องเปรียบเทียบกับอัตราค่าบริการใหม่สธ.ด้วย เพื่อไม่ให้อัตราค่าบริการโดด หรือแพงมากไปกว่าสถานพยาบาลในสังกัดของสธ. เพราะร.พ.ศิริราชไม่ใช่องค์กรที่แสวงหากำไร

ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าวอีกว่า แนวคิดปรับอัตราค่าบริการดำเนินการมาประมาณ 1-2 ปีแล้ว ไม่ได้เป็นเพราะนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท หรือเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท ของรัฐบาลแต่ อย่างใด แต่ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของโรงพยาบาลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ร.พ.ศิริราชจะยังไม่ประกาศอัตราค่าบริการที่แน่ชัดในเร็วๆ นี้ เพราะต้องรอให้สธ.มีการประกาศปรับอัตราค่าบริการเสียก่อน ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-6 เดือน กว่าจะผ่านกระบวนการพิจารณาต่างๆ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ด้านนพ.สามารถ ตันอริยกุล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ตามปกติอัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 9 แห่ง อิงตามเกณฑ์ สธ. โดยจะมีการปรับขึ้นทุกหมวด หลังจากไม่ได้ปรับมานานกว่า 8 ปีแล้ว โดยการปรับขึ้นดังกล่าวจะทำหลัง สธ.ออกประกาศ และหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน คาดว่าจะออกตามหลัง 2-3 สัปดาห์ สำหรับอัตราการใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดของ กทม. ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงไม่มีผลกระทบอะไร

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 30 มกราคม 2556