ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเพิ่มค่าชดเชยช่วยเหลือแพทย์ที่ได้ผลกระทบจากการบริการในอัตราเท่าคนไข้สูงสุด ไม่เกิน 4 แสนบาท

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมพิจารณาเรื่อง "การทบทวนและปรับปรุงอัตราการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ตามมาตรา 18 (4)" ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีระบบการชดเชยความเสียหายทางการแพทย์ให้ทั้งผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข และผู้รับบริการหรือประชาชน โดยผู้รับบริการมีมาตรา 41 ชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยนั้น สำหรับในส่วนของผู้ให้บริการ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ สธ.ก็มีมาตรา 18(4) ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้การคุ้มครองดูแล เพราะเนื่องจากที่ผ่านมา มีแพทย์-พยาบาล ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) ติดเชื้อโรคจากเหตุสุดวิสัย ดังนั้น การมีระบบเยียวยาชดเชยดังกล่าว ก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้เจ้าหน้าที่ เป็นการสร้างความมั่นใจถึงระบบการปฏิบัติงานสาธารณสุขการเยียวยาและชดเชยรองรับให้ เป็นสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับทุกฝ่าย

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในส่วนของอัตราการจ่ายชดเชยสำหรับประชาชนผู้รับบริการนั้น ได้มีการปรับอัตราเพิ่มไปแล้วในวงเงิน 2 เท่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมติบอร์ดสปสช. เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ได้มอบให้สปสช. เสนอการปรับปรุงข้อบังคับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ให้บริการในอัตราการจ่ายเท่าเทียมกับข้อบังคับของผู้รับบริการ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มอัตราการจ่ายช่วยเหลือสำหรับผู้ให้บริการเท่ากับผู้รับบริการ และกรณีพื้นที่เสี่ยงภัยจะเพิ่มอัตราจ่ายเป็นสองเท่าของอัตราที่กำหนดเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น ที่ผ่านมาในกรณีพื้นที่เสี่ยงภัยตั้งแต่ปี 2547-2555 มีการพิจารณาจ่าย 4 ราย เป็นเงิน 160,000 บาท

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สำหรับการปรับอัตราการจ่ายใหม่ของผู้รับบริการ มีดังนี้ 1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต ข้อบังคับเดิมจ่ายไม่เกิน 200,000 บาท ข้อบังคับใหม่จ่าย 240,000-400,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ข้อบังคับเดิมจ่ายไม่เกิน 120,000 บาท ข้อบังคับใหม่จ่าย 100,000-240,000 บาท และ 3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ข้อบังคับเดิมจ่ายไม่เกิน 50,000 บาท ข้อบังคับใหม่จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท หลังจากนี้ สปสช.จะจัดทำร่างข้อบังคับเสนอประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาลงนามต่อไป

ทั้งนี้ มีมาตรา 41 ชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยมติดังกล่าวมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา 1.กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ให้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3.กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องให้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556