ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สธ.เตรียมประกาศใช้ระบบหลักประกันสุขภาพต่างด้าวในเมืองไทยต้น พ.ค.นี้ เล็งเก็บค่ารักษาพ่อ 5 บาท แม่ 4 บาท ลูก 1 บาทต่อเดือน ยันได้รับบริการตามมาตรฐานเช่นคนไทย

ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 ก.พ. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมที่จะให้แรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งผู้ติดตามและลูก โดยเฉพาะในเด็กตั้งใจเก็บวันละ 1 บาท เนื่องจากไม่ใช่คนไทย ไม่ต้องเสียภาษี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กเหล่านี้ได้รับการดูแล เพราะคนเหล่านี้มีรายได้ไม่เยอะ ถ้าเทียบแล้วครอบครัวหนึ่งมีรายได้ประมาณ 200-300 บาทต่อวัน

"เราตั้งใจให้เป็นนโยบายว่าถ้าครอบครัวหนึ่งมีพ่อ แม่ ลูก จะเก็บ 10 บาท คือพ่อ 5 บาท แม่ 4 บาท ลูก 1 บาท ปีหนึ่งก็จะได้ 1,200 บาท จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 10% ซึ่งเราอยากจะดูแลเขา เพราะนอกจากเรื่องมนุษยธรรมแล้ว ปัญหาสาธารณสุขก็มีเยอะ ถ้าเราไม่เข้าไปดูจะทำให้เกิดปัญหาการคลอดลูกในเมืองไทย โรคระบาด วัณโรค เท้าช้าง ซิฟิลิส เป็นต้น" นพ.ประดิษฐกล่าว

รมว.สธ.กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการสามารถมาซื้อบริการได้ที่โรงพยาบาลเลย โดยในส่วนของผู้หญิงจะกระตุ้นให้มาฝากครรภ์ และซื้อประกันให้ลูก หลังคลอดวันละ 1 บาท และอาจจะให้ผ่อนได้ 3 เดือนครั้ง เพราะว่าคนเหล่านี้เงินไม่เยอะ ถ้าทำได้อย่างน้อยก็ได้ให้บัตรสุขภาพเด็ก และได้รับการรักษาตามมาตรฐานเช่นเดียวกับเด็กไทย เช่น การให้วัคซีนป้องกันโรค ถ้าหญิงตั้งครรภ์ก็จะได้รับยา ได้อาหารเสริม ได้ทำคลอด

"แต่ละปีมีเด็กต่างด้าวคลอดในประเทศไทยประมาณปี 1-2 หมื่นคน จะต้องดึงเข้าระบบให้หมด โดยประมาณต้นเดือน พ.ค.2556 จะประกาศใช้ระบบหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าว ส่วนเด็กที่เกิดก่อนหน้านี้เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ต้องติดตามคนเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้" รมว.ศธ.กล่าว

ถามว่า ต้องใช้ใบรับรองการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายด้วยหรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า เราใช้คำว่าคนต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุขไม่มีหน้าที่ไปถามว่าคุณมาในฐานะใด ถูกกฎหมายหรือ ไม่ถูกกฎหมาย เพราะมติ ครม.ให้สามารถทำการรักษาได้ทุกคน ยกเว้นระบบประกันสังคมของคนต่างด้าว ไม่อย่างนั้นก็ต้องถามหมด และต้องรายงานตำรวจ คนเหล่านี้ก็หนีหมด

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในประ เทศไทยประมาณ 3-4 ล้านคน ดังนั้นคาดว่าหากเก็บได้ประมาณ 1-2 ล้านคนมากพอ และคิดว่าน่าจะสามารถเก็บได้ประมาณพันกว่าล้านบาทต่อปี เพราะว่าสถิติที่ผ่านมาพอถูกจับเขาก็หนีไป ไม่มาหาหมอ แต่ตอนนี้พอมติ ครม.ผ่อนผันแล้วเขาก็ยอมออกมา ส่งผลดีต่อสาธารณสุขของประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 1 มีนาคม 2556