ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปัจจุบันวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรกว่า 17 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะไทยซึ่งเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง มียอดผู้ป่วยสะสมถึง 110,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคแล้วประมาณ 9,800 ราย ข้อมูลชี้การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อเอดส์และเชื้อดื้อยาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัณโรคกลับมาแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น สธ.เดินหน้า เร่งค้นหา รีบรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันวัณโรคดื้อยาตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากวัณโรคให้น้อยกว่าร้อยละ 5 และการขาดยาต้องเป็นศูนย์

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าขณะนี้วัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรกว่า 17 ล้านคนต่อปี วัณโรคจึงเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็น 1 ใน 22 ประเทศ ที่มีปัญหาวัณโรคสูง และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ปีละ 86,000 ราย เมื่อรวมกับรายเก่าที่เป็นอยู่แล้วคาดว่าจะมีคนไทยป่วยเป็นวัณโรคถึง 110,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคแล้วประมาณ 9,800 ราย รัฐบาลไทยโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจึงได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ควบคุมป้องกันวัณโรคให้มีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านการเข้าถึงบริการ การรักษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยและครอบครัว พัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยวัณโรค การวิจัยพัฒนา และส่งเสริมพัฒนาภาคีเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันวัณโรคให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาโรคติดต่อที่อาจแพร่ระบาดได้ง่าย จากการเคลื่อนย้ายประชากรและแรงงานเข้ามายังประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า

โดยกรอบการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรควัณโรคในปี 2556 นี้ คือ การเร่งค้นหา รีบรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันวัณโรคดื้อยา และมีจุดเน้นคือ "ค้นให้พบ จบด้วยหาย ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0" ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง

เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ต้องขัง แรงงานย้ายถิ่น เป็นต้น และเมื่อค้นพบผู้ป่วยก็ต้องเข้ารับการรักษาด้วยระบบยาระยะสั้นตามมาตรฐานสากลจนกว่าจะหายขาด ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากวัณโรคให้น้อยกว่าร้อยละ 5 และการขาดยาต้องเป็นศูนย์

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การที่วัณโรคกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งและอาจรุนแรงมากขึ้นมีสาเหตุสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ที่เพิ่มมากขึ้นและทำให้ผู้ติดเชื้อมีภูมิต้านทานต่ำ จึงมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้สูงกว่าคนปกติ เนื่องจากวัณโรคและโรคเอดส์ถือเป็นแนวร่วมที่สามารถเพิ่มผลกระทบต่อผู้ป่วยวัณโรคทั้งในด้านการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งจะทำให้ยุ่งยากมากขึ้น ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุมาจากเชื้อดื้อยาเพราะผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่อง กินยาไม่สม่ำเสมอ ทำให้การรักษามีโอกาสหายต่ำ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเกิดป่วยเป็นวัณโรคซ้ำ เมื่อกลับมารับประทานยาใหม่ เชื้อวัณโรคจะดื้อยา และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น สามารถแพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาสู่ผู้อื่นได้ง่าย และการที่ผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคดื้อยา ยิ่งจะทำให้การควบคุมวัณโรคมีความยุ่งยากมากขึ้น จะต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้น จากปกติ 6 เดือน เป็น 18-24 เดือน และค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย จากปกติ 2,500 บาท เป็น 80,000-100,000 บาท แต่ผลการรักษาหายเพียงร้อยละ 60 และจากข้อมูลยังพบอีกว่าผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในประเทศไทยร้อยละ 5 จะเป็นวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่าวัณโรคดื้อยาโดยทั่วไปประมาณ 10 เท่าแต่ผลการรักษาหายอยู่ที่ร้อยละ 30เท่านั้นอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า

วัณโรคสามารถป้องกันได้โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ใช้หลัก "กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ" ออกกำลังกายบ่อย ๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่สาธารณะเนื่องจากจะมีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ดี หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ลิฟต์ หากขึ้นลงเพียง 1-2 ชั้น ควรใช้บันไดจะดีกว่าและยังถือว่าเป็นการออกกำลังกายไปด้วย ที่สำคัญต้องไม่สำส่อนทางเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลงมีโอกาสที่จะป่วยเป็นวัณโรคได้

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค อธิบายว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ทำให้มีการอักเสบในปอด ซึ่งในผู้ใหญ่ส่วนมากมักจะพบเป็นที่ปอด ในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก เชื้อวัณโรคหรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ทีบี (TB)" สามารถติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ และแพร่กระจายจากคนไปสู่คน หรือคนไปสู่สัตว์ได้ดังเห็นได้ตามข่าวโทรทัศน์ว่าช้างติดเชื้อวัณโรคจากคนเลี้ยงช้าง เชื้อนี้จะอยู่ในสารคัดหลั่งโดยเฉพาะเสมหะ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคไอหรือจามจะนำพาเชื้อในปอดของผู้ป่วยออกมาฟุ้งกระจายลอยอยู่ในอากาศ เมื่อคนใกล้ชิดหรือคนเดินบริเวณนั้นจะสูดหายใจนำละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคนั้นเข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งการติดเชื้อนั้นบางคนอาจไม่มีอาการแสดงเรียกว่าวัณโรคระยะแฝง ส่วนบางคนที่มีอาการครึ่งหนึ่งจะแสดงอาการออกมาใน 2 ปีแรกของการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์จะมีโอกาสแสดงอาการออกมาร้อยละ 10 ต่อปี ที่ผ่านมาสำนักวัณโรคได้มีการเฝ้าติดตามและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสำรวจความชุกวัณโรค การจัดรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ให้บริการตรวจปอด รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนัก เข้าใจ และหันมาให้ใความสำคัญกับการป้องกันวัณโรค

นพ.วิทยา หลิวเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าสถานการณ์วัณโรคในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนยังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและไม่ควรมองข้าม อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โดย สคร.10 จ.เชียงใหม่ได้เร่งรัดดำเนินงานค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงที่สุดเพราะสุขภาพอ่อนแออยู่แล้ว ควรมีการค้นหาผู้ป่วยให้ได้ไวที่สุดและรักษาให้หาย ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการหนัก เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาด และขอแนะนำให้ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนอย่างใกล้ชิด หากพบมีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ หรือไอเป็นเลือด ให้นำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน ส่วนผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นวัณโรค ควรกำกับดูแลการกินยาให้ครบโดยญาติและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และควรให้กำลังใจผู้ป่วยเพราะวัณโรคเป็นโรคที่รักษาแล้วหายได้.

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--