ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์'ชี้แจงสภาผู้แทนฯ กรณีแพทย์ชนบทชุมนุมขับไล่-นัดหยุดสงกรานต์ ต่อต้านนโยบายปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ยันทำเพื่อให้ระบบการเงินมั่นคง เชื่อมีจรรยาบรรณ

กรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทไม่พอใจนโยบายการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ และประกาศระดมสมาชิกกว่า 3,000 คน ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลทุกวันอังคารเริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายสหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องค่าตอบแทนแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า หากยกเลิกวิธีจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และเปลี่ยนเป็นการประเมินจ่ายตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยและห่างไกลจะได้รับผลกระทบอย่างไร นอกจากนี้ การที่แพทย์ในชนบทนัดชุมนุมประท้วงหยุดงานในช่วงเดือนเมษายนนี้ จะเกิดปัญหาหรือไม่

ด้าน นพ.ประดิษฐชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย โดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงค่าตอบแทนเท่านั้น และสาเหตุที่ต้องปรับเพราะต้องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ เพราะปัจจุบันแพทย์กับพยาบาลมีอัตราค่าตอบแทนต่างกันมาก ประกอบกับภาระงานในแต่ละวิชาชีพก็ต่างกัน จึงต้องปรับให้เหมาะสม เป้าหมายคือต้องการสร้างความมั่นคงในระบบค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งจะมีการตั้งงบประมาณดังกล่าวแบบงบประมาณประจำปี ถือว่ามั่นคงกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งของบประมาณแบบปีต่อปี

"ส่วนการที่จะมีแพทย์ พยาบาล นัดหยุดงานในช่วงเดือนเมษายนนั้น เชื่อว่าทุกคนยังมีจรรยาบรรณ ไม่หยุดงานละทิ้งคนไข้ในคราวเดียวกัน แต่ยอมรับในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันหยุดยาว อาจมีแพทย์บางส่วนที่ใช้สิทธิ แต่ขอให้มั่นใจเพราะในระบบสาธารณสุขมีการจัดเวรทำงาน และแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ก็พร้อมสนับสนุนการทำงาน" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ จะนำเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการ

วันเดียวกัน นายไพศาล บวงชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข นำผู้แทนอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) สมาชิกนักสาธารณสุข และหมออนามัยกว่า 5,000 คน ไปชุมนุมที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา เพื่อทวงถามความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ... ทั้งนี้ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นผู้รับหนังสือ และรับปากว่าจะเร่งให้ผ่านก่อนปิดสมัยการประชุมสภา ในวันที่ 18 เมษายนนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 มีนาคม 2556