ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กร้าวประกาศ ของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท จนถึงวันนี้ยังคงหนักแน่น เตรียมระดมแพทย์ ทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชน จำนวน 3,500-5,000 คน จัดตั้งม็อบหน้าทำเนียบฯในวันที่ 26 มี.ค.นี้

เป้าหมายไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) พ้นจากตำแหน่ง ด้วยทนไม่ไหวกับเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานเพิ่ม (พี4พี)

นั่นเพราะเอื้อประโยชน์ให้กับโรงพยาบาลเอกชนโดยเฉพาะการดูดแพทย์ในระบบออกไปใช้งาน

เหตุผลตามที่ประธานชมรมแพทย์ชนบทให้ไว้ คือแม้ว่าการจ่ายแบบ พี4พี จะเป็นเรื่องดีเพราะจะช่วยกระตุ้นการทำงาน แต่ก็ไม่ควรยกเลิกค่าเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ยังรั้งแพทย์ไว้ในชนบทไม่ให้ไหลไปรับค่าตอบแทนสูงกว่า 3-4 เท่าในภาคเอกชน

"หากนำ พี4พี รวมเข้ากับเงินเดือนและค่าจูงใจอื่นๆของแพทย์ชนบทที่มีอายุงานมากกว่า 10 ปีจะมีรายได้เดือนละ 1 แสนบาท ซึ่งใกล้เคียงกับระดับเงินเดือนของโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน แต่หากตัดเบี้ยอื่นๆทิ้งไป เท่ากับเงินเดือนในระบบราชการจะแตกต่างกับเอกชนมาก ที่สุดแล้วแพทย์ก็จะไหลออก"นพ.เกรียงศักดิ์ อธิบายเขาย้ำว่า เบี้ยทุรกันดารช่วยตรึงแพทย์ให้อยู่ในชนบทได้จริง โดยปี 2551 ยุค ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงเป็น รมว.สาธารณสุข มีแพทย์ในชนบทเพิ่มขึ้นจาก2,500 คน เป็น 3,200 คน หรือ 28%

ที่จริงแล้ว พี4พี ไม่ใช่ระบบใหม่ เพราะเคยใช้ได้ผลกับโรงพยาบาลศูนย์หลายแห่ง นั่นเพราะเมื่อแพทย์มีคนไข้มากขึ้น มีภาระงานมากขึ้น ก็สามารถทำรายได้ส่วนเสริมจากเงินเดือนได้มากขึ้น จึงไม่แปลกที่โรงพยาบาลศูนย์หนุน พี4พี

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงเสริมจากสภาการพยาบาลสภาวิชาชีพเภสัชกร หรือสภาวิชาชีพแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ ที่ออกมาหนุนและประณามท่าทีของชมรมแพทย์ชนบท

ทว่า เมื่อนำเกณฑ์การจ่ายเบี้ยกันดารออกมากางจะพบว่าการคัดค้านครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย นั่นเพราะพื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 หรือที่ถูกปรับเกณฑ์ให้เป็นพื้นที่เฉพาะ อาทิ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือพื้นที่เกาะ ในร่างค่าตอบแทนฉบับใหม่นั้น

แพทย์จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษราว 2 หมื่นบาทขณะที่พยาบาลวิชาชีพได้ราว 3,000 บาทเท่านั้น หากจ่ายตาม พี4พี ย่อมได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ว่ากันว่าการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทครั้งนี้ ได้รับแรงกระตุ้นจากองค์กร "ตระกูล ส."ที่ นพ.ประดิษฐ และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ประกาศทวงคืนอำนาจไปก่อนหน้า

จึงต้องจับตาดูว่าปลายทางของสองฟากข้อมูลขั้วตรงข้ามจะลงเอยอย่างไร ด้วย สธ. ไม่ได้สุมไฟไว้กับแพทย์ชนบทเพียงอย่างเดียว แต่กลับเปิดศึกรอบด้าน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 25 มีนาคม 2556