ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ครม.ไฟเขียว รื้อระเบียบเบี้ยเลี้ยงหมอ เหมาจ่ายผสมเบี้ยขยัน รมว.สธ.แจงถิ่นกันดารได้เหมือนเดิมแต่พื้นที่เจริญจ่ายตามภาระงาน ชมรมแพทย์ชนบทลั่นเดินหน้าค้าน-ขู่หยุดงาน

จากกรณี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายปรับปรุงระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์จากวิธีการเหมาจ่าย เป็นการจ่ายตามภาระงาน โดยเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 26 มีนาคม ก่อนประกาศบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน ส่งผลให้กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายทันตแพทย์ภูธร ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน จนบานปลายไปสู่ประเด็นขับไล่ นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่งนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นพ.ประดิษฐ พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ร่วมกันแถลงข่าว ระบุว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการให้ปรับปรุงระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ของกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่ใช้วิธีการเหมาจ่าย มาเป็นการจ่ายแบบผสมผสานคือ ในพื้นที่ที่มีจำนวนหรือเป็นพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่กันดารจริง จะยังคงเหมาจ่ายให้เหมือนเดิม ผสมผสานกับค่าตอบแทนจากภาระงาน ส่วนพื้นที่ที่มีความเจริญแล้วจะพิจารณาจ่ายให้ตามภาระงาน

"ในหลักการที่ ครม.อนุมัตินั้นมีความชัดเจนว่า ให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง วิธีการจ่ายเงินค่าตอบแทนโดยในส่วนที่เป็นค่าเหมาจ่ายยังคงมีเหมือนเดิม คือ เหมาจ่ายในพื้นที่ที่มีความทุรกันดารและมีความจำเป็นต่างๆ แต่มีการปรับลดลงมาบางส่วนให้เหมาะสม ผสมผสานกับภาระงานที่เกิดขึ้น แนวทางนี้มีวัตถุประสงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์อยู่ในระบบมากขึ้น เนื่องจากทำให้รัฐบาลสามารถให้เงินสนับสนุนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ได้มากขึ้น และสามารถตอบคำถามให้แก่ประชาชนด้วยว่า ประชาชนได้รับการรักษาที่ดีขึ้น" รมว.สาธารณสุขกล่าว

ส่วนกรณีที่แพทย์ชนบทระบุว่า จะมีการยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายต่างๆ นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ไม่ได้ยกเลิกแต่ปรับปรุงวิธีการจ่ายให้เป็นการผสมผสานกันเพราะบางพื้นที่ไม่ใช่พื้นที่ทุรกันดารแล้ว เช่น อ.บางใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี จึงต้องมีการปรับปรุงวิธีการจ่ายค่าตอบแทน ขณะที่บางพื้นที่ที่เจริญแล้ว แต่ยังขาดบุคลากรทางการแพทย์ เช่น เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ก็จะต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดคล้องและเหมาะสมเช่นกัน

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์ปลีกย่อย จะมีการประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกด้าน แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการการกลั่นกรองชุดที่ 3 ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบในวันที่ 30มีนาคมก่อนที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว จะทำเป็น 2 ช่วง คือ เมื่อดำเนินการไปแล้วในปีแรกก็จะมีการประเมินผลว่าเป็นอย่างไร จากนั้นปีที่ 2 จะมีการปรับปรุงรายละเอียดแล้วประเมินอีกครั้งว่าผลเป็นอย่างไร

"จากนี้เราจะเชิญแพทย์ชนบทเข้ามาพูดคุยด้วย แต่หากเขาไม่เข้ามาพูดคุยด้วยคงจะแก้ปัญหายาก และผมจะไม่ดำเนินการตามมติครม. ก็ไม่ได้ หากแพทย์ชนบทจะเอาผมออกอย่างเดียว ก็ต้องมาดูวัตถุประสงค์ก้นแล้วว่าที่มาวันนี้เป็นเรื่องอะไรกันแน่ ผมไม่ทราบว่าที่มาขับไล่ผมในวันนี้เป็นเรื่องอะไร เพราะได้มีการโยงไปทุกเรื่อง ทั้งเรื่องที่ระบุว่า ผมจะไปสนับสนุนเอฟทีเอ เหล้าบุหรี่ รวมถึงเรื่องที่ผมไปสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลแท้ๆ จะให้ผมทำอย่างไรหากผมทำตามนโยบายรัฐบาล แล้วมีคนมาไล่ผมออกผมมองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง" นพ.ประดิษฐกล่าว         

ด้าน นพ.ณรงค์กล่าว่า ครม.มีมติอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงค่าตอบแทนโดยให้จ่ายแบบผสมผสาน ทั้งการจ่ายตามภาระงานหรือ พีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายคงเดิมในพื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งการจ่ายลักษณะดังกล่าวจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.พื้นที่ชุมชนเมือง 2.พื้นที่ปกติ 3.พื้นที่เฉพาะ 1 และ 4.พื้นที่เฉพาะ 2 โดยพื้นที่เฉพาะ 1 จะเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร รวมทั้งตามเกาะต่างๆ ส่วนพื้นที่เฉพาะ 2 เป็นพื้นที่ทุรกันดารในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพื้นที่เฉพาะทั้ง 1 และ 2 จะได้รับค่าตอบแทนทั้งเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเดิม และยังได้เพิ่มจากการทำพีฟอร์พีอีกด้วยซึ่งใครทำงานมากก็จะได้รับค่าตอบแทนมาก                   

ด้านความเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบท ชมรมทันตสาธารณสุขภูธร และเครือข่ายทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชน เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน ได้มีสมาชิกกลุ่มทั่วประเทศประมาณ 1,000 คน แต่งกายชุดดำมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และมีการจุดไฟเผาโลงศพ ขับไล่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จากกรณีเสนอยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า นพ.ประดิษฐบริหารงานมีปัญหา รวบอำนาจไว้ที่ตนเอง รวมถึงพยายามผลักดันให้แพทย์ออกจากการราชการไปอยู่กับภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคัลฮับ) และที่สำคัญ นพ.ประดิษฐมีความพยายามที่จะเลิกการจ่ายเบี้ยกันดารแบบเหมาจ่ายเป็นจ่ายตามภาระงาน หรือเบี้ยขยัน ทำให้แพทย์ที่ทำงานในชนบทขาดขวัญกำลังใจ ทำให้แพทย์ต้องเร่งตรวจผู้ป่วยจำนวนมากๆ เพื่อจะได้เงินมากๆ

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า การที่ชมรมจะไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับกระทรวงสาธารณสุขจะไม่เป็นการทำผิดวินัย เพราะเรามีจิตสำนึกที่ดีพอในการให้บริการแก่ประชาชน และจะไม่ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเดือดร้อน แต่ที่ผ่านมานพ.ประดิษฐกลับออกมาพูดทำร้ายน้ำใจว่าโรงพยาบาลชุมชนไม่ทำงาน ทั้งๆ ที่เป็นส่วนที่ช่วยดูแลประชาชนในแต่ละพื้นที่  โดยเฉพาะผู้ป่วยนอก ได้เป็นจำนวนมาก

ส่วนแนวคิดที่แพทย์อาจจะหยุดการทำหน้าที่ในช่วงวันที่ 9-11 เมษายนนั้น นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า จะขอหารือกันอีกครั้งแต่ขอให้ทุกคนสบายใจว่าแพทย์จะไม่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องของอุบัติเหตุฉุกเฉิน จึงต้องมีการจัดเวรปฏิบัติมารองรับ เพียงแต่อาจมีบางคนที่ขอลาหยุดตามระเบียบ ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขาตามปกติ

"เรายืนยันว่ายังคงเคลื่อนไหวต่อไป และจะกลับมาชุมนุมอีกครั้งส่วนจะเป็นเมื่อใดนั้นต้องขอหารือกันอีกครั้ง" ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กรรมการชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เบี้ยกันดารและค่าตอบแทนตามภาระงานเป็นคนละเรื่องกันเพราะค่าตอบแทนตามภาระงานคือเบี้ยขยันส่วนเบี้ยกันดาร จ่ายให้สำหรับคนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ยิ่งอยู่นานยิ่งได้มาก ด้วนนโยบายรัฐนี้ทำให้มีแพทย์เฉพาะทางในชนบทเพิ่ม 200-300% ส่วนค่าตอบแทนตามภาระงานนั้นไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ได้รับ อยู่ กทม.ก็ได้รับ อยู่อ.อุ้มผาง จ.ตาก ก็ได้รับ จึงไม่จูงใจให้แพทย์ไปทำงานในชนบท

นพ.สุภัทรกล่าวว่า รัฐมนตรีไม่เข้าใจโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัย ไม่ใช่จ่ายเงินแล้วจะทำงานดี อีกทั้งเบี้ยขยันคำนวณยาก และสร้างความแตกแยก หากเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่มีแพทย์ 100 คน อาจทำงานได้คล่อง แต่โรงพยาบาลชุมชน หรือสถานีอนามัยที่มีหมอ 2-3 คน ต้องทำงานเป็นทีม หมอบางคนคุยนาน ตรวจละเอียด ขณะที่หมออีกคนตรวจเร็ว พยาบาลจะรู้ว่าคนไข้แบบไหนควรส่งให้หมอที่ตรวจละเอียดหรือตรวจเร็ว ผลคือหมอตรวจเร็วอาจจะได้ 50 คน หมอตรวจช้าอาจได้ 20 คน แต่หมอทุกคนทำงานเป็นทีม         

เมื่อถามว่า นพ.ประดิษฐระบุว่าจะจ่ายเบี้ยกันดารต่อและจ่ายเพิ่มตามภาระงานได้หรือไม่ นพ.สุภัทรกล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคมไม่ได้พูดแบบนี้ และข้อเสนอเช่นนี้ก็รับไม่ได้ เพราะการจ่ายเพิ่มตามภาระงาน ไม่ใช่โรงงานปลากระป๋อง ที่ทำงานมากได้มาก วันนี้ความเชื่อมั่นต่อรัฐมนตรีเหลือน้อยแล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 27 มีนาคม 2556