ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขว่า จากการหารือสรุปว่า การจ่ายตามพีฟอร์พี (P4P: Pay for Performance) จะมีการพิจารณาจากทั้งภาระงานและภารกิจ ไม่ใช่เพียงแค่การตรวจคนไข้ แต่รวมถึงการส่งเสริมป้องกันโรคด้วย เป็นต้น ที่สำคัญไม่ได้พิจารณาเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียวแต่ดูคุณภาพด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยกับการจัดแบ่งพื้นที่โรงพยาบาลใหม่ และตัวเลขอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเริ่ม 1 เมษายน 2556 และระยะ 2 เริ่ม 1 เมษายน 2557 ในระยะที่ 2 สามารถดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดได้ตามผลการประเมินของการใช้ในระยะที่ 1

"ชมรมแพทย์ชนบทเชิญมาประชุมแล้วไม่มา แต่ทราบว่าจะไปชี้แจงกับคณะกรรมการกลั่นกรองเลย ผมเสียใจว่าไม่มาหารือในรายละเอียดร่วมกันก่อนแล้วเข้าไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการกลั่นกรองเลยนั้นจะได้รายละเอียดไม่ครบ เพราะมีเวลาจำกัด ส่วนที่จะฟ้องศาลปกครองเพราะถือว่าทำให้เสียสิทธินั้น สามารถดำเนินการได้ตามสิทธิที่มี แต่ขอถามว่าถ้าวิชาชีพอื่นไปฟ้องศาลหลังจากที่แพทย์ชนบทฟ้องไปแล้วเช่นกันว่าการไม่ดำเนินการเรื่องนี้ทำให้เขาเสียสิทธิบ้างจะเป็นอย่างไร" นพ.ประดิษฐกล่าว

ทางด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ผลการประชุมของ สธ.ที่นำเสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากโรงพยาบาลชุมชน จึงวอนขอรองนายกรัฐมนตรีรับฟังปัญหาและข้อเสนอของทางแพทย์โรงพยาบาลชุมชนด้วย การที่โรงพยาบาลชุมชนไม่เข้าร่วมประชุมกับ สธ. ไม่ใช่เพราะต่อต้าน แต่เพราะที่ผ่านมาได้เข้าชี้แจงเรื่องนี้กับทางปลัด สธ.มา 3 ครั้งแล้ว ได้ให้เหตุผลถึงการคัดค้านการปรับเปลี่ยนแนวทางนี้ แต่กลับไม่เป็นผล ขณะที่รัฐมนตรี สธ. ทางกลุ่มแพทย์ก็เคยขอเข้าพบ แต่กลับถูกปฏิเสธ หากสุดท้าย ครม.อนุมัติให้เดินหน้าเรื่องนี้จริง จะขอฟ้องศาลปกครองเพื่อปกป้องสิทธิที่ถูกละเมิด ขณะนี้อยู่ระหว่างล่ารายชื่อประมาณ 10,000-20,000 รายชื่อเพื่อร่วมยื่นฟ้อง

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า จากการสอบถามสมาชิกในโรงพยาบาลชุมชน ทราบว่ามีแพทย์ ทันตแพทย์ทยอยลาออกแล้ว โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น มีแพทย์ลาออก 7 คน รายหนึ่งเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลบ้านฝาง ได้ยื่นใบลาออกมีผลในวันที่ 10 เมษายนนี้ ส่วนอีก 6 ราย เป็นแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลตัวจังหวัดขอนแก่นมา 1 ปี และปีที่ 2 ต้องเลือกไปอยู่โรงพยาบาลชุมชน แต่เมื่อมีข่าวการเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทน ทำให้ทั้งหมดขอลาออกเช่นกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 29 มีนาคม 2556