ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ มีมติเห็นชอบมาตรการจัดหายาทดแทนยาในกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายสูง และราคาแพง 9 กลุ่มโดยใช้ราคากลางที่อภ.จัดหาเป็นราคากลาง และมอบกระทรวงการคลังเสนอครม.พิจารณาให้รพ.รัฐซื้อยาจากอภ.เป็นลำดับแรก คาดเบื้องต้น 10 กว่ารายการ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมใช้รหัสยามาตรฐานเวอร์ชั่นแรก เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบการเบิกจ่ายยา และให้สปสช.เป็นหน่วยเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลกับกรมบัญชีกลาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดหายาที่มีคุณภาพมาทดแทนยาในกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายสูง และราคาแพง 9 กลุ่ม เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งมีทั้งยาที่ผู้ขาดมีผู้จำหน่ายในประเทศไทยรายเดียว ทั้งที่ยังมีสิทธิบัตรและหมดสิทธิบัตรแล้ว และกลุ่มที่ 2 คือยาที่มีผู้จำหน่ายหลายราย ขณะนี้อภ.ได้ต่อรองราคายาประมาณ 10 กว่ารายการ คาดว่าประหยัดเงินได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท

โดยเห็นชอบให้ 1.ขอให้ใช้ราคาที่องค์การเภสัชกรรมเสนอในที่ประชุมซึ่งราคาต่ำกว่าท้องตลาดประมาณร้อยละ 40 ขึ้นไป สามารถนำมาใช้อ้างอิงเป็นราคากลางกับกรมบัญชีกลางได้ 2.จะขอมติคณะรัฐมนตรีผ่านกระทรวงการคลัง ให้สิทธิพิเศษให้สถานพยาบาลของรัฐพิจารณาซื้อยาที่องค์การเภสัชกรรมจัดหา โดยไม่ต้องประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้าง ในกรณีที่ผู้จำหน่ายรายอื่นราคาสูงกว่า โดยให้สิทธิพิเศษในระยะเวลาจำกัดเช่น 6 เดือน – 1 ปี เพราะหากตรึงราคาในระยะเวลานานเกินไป ผู้ผลิตในเมืองไทยจะมีการปรับตัวลดราคายาลงเพื่อแข่งขัน จนทำให้ไม่เหลือกำไรพอที่จะดำเนินการ ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศเช่นอินเดีย จีน ซึ่งยามีราคาถูกเพราะกำลังผลิตต่อประชากรมากกว่า ทำให้ประเทศไทยขาดความมั่นคงทางด้านยา

เรื่องที่ 2 คือความคืบหน้าการพัฒนาบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย ขณะนี้ได้พัฒนาบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานยา 9 กลุ่มที่มีมูลค่าสูง ฉบับที่ 1 แล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อมีรหัสกลางยาจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่าย เช่น กรมบัญชีกลาง ประกันสังคม และสปสช. สามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบการใช้ยาว่าเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่ การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กรมบัญชีกลางได้ทำบันทึกความร่วมมือกับ สปสช. โดยให้สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่รับ-ส่งข้อมูลของโรงพยาบาลในการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงกับกรมบัญชีกลาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ระยะต่อไปจะดำเนินการร่วมกับสำนักงานประกันสังคม และในอนาคตคาดว่าเมื่อเข้าสู่ระบบแล้วจะมีการตั้งหน่วยงานแยกออกมาเป็นองค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้เกิดอคติต่อระบบฐานข้อมูล เป็นศูนย์ข้อมูลระดับชาติ (National Information Center) ของทั้ง 3 ระบบประกันสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อบริการเกิดความเชื่อมั่นว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรง คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 1 ตุลาคม 2557