ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'ผู้อำนวยการ อภ.'ส่งทนายยื่นขอเลื่อนเข้าให้ปากคำทั้งเรื่อง'รง.วัคซีนยาพาราฯ'ไม่มีกำหนด อ้างป่วยกะทันหัน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 เมษายน นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เดินทางเข้าพบ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ สธ. เพื่อรับเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทั้งนี้ นพ.ประดิษฐให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ดีเอสไอมารับเอกสารเพิ่มเติม เพราะได้แจ้งไปว่าเคยสอบถามไปยังองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของโรงงานผลิตวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับคำตอบผ่านทางอีเมล์ จึงมีการหารือกับเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค และตัวแทนขององค์การอนามัยโลกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา โดยจัดทำเป็นเอกสารสรุปแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ได้รายละเอียดครบถ้วน และได้ส่งมอบให้กับดีเอสไอในวันเดียวกันนี้

"ส่วนเอกสารเพิ่มเติมเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล เป็นการนำส่งรายการเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เกี่ยวกับล็อตการนำเข้า โดยขณะนี้ได้ส่งมอบเอกสารทั้งหมดให้กับดีเอสไอแล้ว คาดว่า ดีเอสไอจะนำไปพิจารณาและสรุปเป็นเรื่องๆ ว่า ประเด็นที่สงสัยสมเหตุผลหรือไม่ หากทุกอย่างสมเหตุผลเรื่องก็จบไป ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในสัปดาห์หน้า" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า สำหรับการเดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ในขณะนี้ได้เตรียมหารือกับทาง อภ.ในการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา โดยจะเชิญผู้ที่มีความรู้ด้านวัคซีนทั้งในเชิงวิชาการทางการแพทย์ และในการผลิต เพราะหากคิดแค่วิชาการ แต่ไปไม่ถูกในเรื่องการผลิต ก็ไม่รู้จะผลิตอย่างไร คาดว่า จะตั้งคณะกรรมการชุดนี้ได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งช่วงนี้ขอเวลาหารายชื่อและทาบทามก่อน เบื้องต้นคาดว่าจะมี 5-6 คน

นพ.ประดิษฐกล่าวต่อว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาชุดดังกล่าวจะสรุปทางวิชาการว่า การก่อสร้าง การวางแผนการทำโรงงานผลิตวัคซีนจะเป็นอย่างไร จะเป็นเชื้อเป็น เชื้อตาย จะผลิตในปริมาณเท่าใดถึงจะถูกต้อง มีความเป็นไปได้ทางการค้าอย่างไร และในเชิงการบริหารจัดการจะทำอย่างไรให้จบ เพราะขณะนี้เรื่องยังไม่จบ เนื่องจากยังมีการตัดสินใจว่าจะเพิ่มเงิน เพื่อให้สร้างเสร็จ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าถ้าเพิ่มเงินแล้วจะก่อสร้างแล้วเสร็จจริง ซึ่งต้องนำมาพิจารณาใหม่ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความคืบหน้ากรณีองค์การอนามัยโลกสนับสนุนทุนวิจัยให้ อภ.พัฒนาวัคซีนเป็นอย่างไร นพ.ประดิษฐกล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นการวิจัยเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ที่วิจัยในปี ค.ศ.2009 และได้รับการจดทะเบียนให้ใช้ได้ในปี ค.ศ.2011 ส่วนเชื้อเอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ยังทดลองไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเชื้อทั้งสองตัวนี้ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ เพราะไม่มีการระบาด แม้จะจบการทดลองก็ไม่มีการผลิต แต่ตัวแทนองค์การอนามัยโลกย้ำว่า ในการทำวัคซีนทุกอย่างต้องมีการทดลองวิจัยในคลินิก โดยต้องมีความแตกต่าง 2 อย่าง คือ ถ้าเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลต้องวิจัยครบ 3 ขั้นตอน คือ ระยะ 1-3 อาจต้องใช้เวลาพอสมควร 4-5 ปี แต่กรณีระบาด เวลาจะสั้นลง อาจเหลือเพียง 2 ระยะ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งหากมีประสบการณ์ก็อาจวิจัยเพียงปีกว่า

ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 09.00 น. นายธานินทร์พร้อมด้วยนายสุนทร วรกุล รองผู้อำนวยการ อภ. และนางอัจฉรา บุญผสม เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญพิเศษ อภ. ร่วมกันตรวจสอบสถานที่เก็บวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลของ อภ. ที่โกดังเก็บสินค้าบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ โดยนายธานินทร์กล่าวภายหลังตรวจสอบว่า โกดังแห่งนี้คือสถานที่เก็บวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล 100 ตัน ซึ่งจำนวนของวัตถุดิบเป็นหนึ่งในประเด็นสอบสวนที่ดีเอสไอตั้งไว้ จากการตรวจสอบพบว่าจำนวนวัตถุดิบยังอยู่ครบ 2,000 ถัง ปริมาณ 100 ตัน เป็นวัตถุดิบที่ผลิตปี ค.ศ.2011 และ ค.ศ.2012 จะหมดอายุในปี ค.ศ.2014 และ ค.ศ.2015 อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอจะมีหนังสือสอบถามไปยังบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ เพื่อให้ยืนยันว่าวัตถุดิบยังอยู่ครบ จากนั้น พนักงานสอบสวนจะตัดประเด็นเรื่องจำนวนวัตถุดิบและสภาพการจัดเก็บเหมาะสมหรือไม่ เพราะในส่วนการจัดเก็บก็พบว่าอยู่ในเรื่องจำนวนวัตถุดิบและสภาพการจัดเก็บเหมาะสมหรือไม่ เพราะในส่วนการจัดเก็บก็พบว่าอยู่ในอุณหภูมิตามมาตรฐานการจัดเก็บ

นายธานินทร์กล่าวต่อว่า ดีเอสไอจะมุ่งตรวจสอบการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลมาสำรองไว้จำนวนมาก ส่วนประเด็นเรื่องการปนเปื้อนอยู่ระหว่างรอผลตรวจสอบยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพียงหน่วยเดียว ส่วนทางโรงงานเภสัชกรรมทหารได้ทำหนังสือตอบกลับมาแล้ว คือไม่ได้ตรวจวิเคราะห์สิ่งที่ปนเปื้อนว่าคือสารอะไร แต่ส่งวัถตุดิบกลับคืนทาง อภ.เรียบร้อยแล้ว ส่วนยาเม็ดที่ผลิตก็เรียกคืนและส่งกลับคืนแล้วเช่นกัน สำหรับ อย.ระบุว่า ทาง อภ.ไม่ต้องขึ้นทะเบียนยาตามกฎหมาย แต่ก่อนหน้านี้เคยขอขึ้นทะเบียนยา 2 ตัว แต่มีการเปลี่ยนสูตรยา จึงมีการยกเลิกตัวยาที่ขอขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ ดีเอสไอจะนำข้อมูลประกอบการพิจารณาอีกครั้ง

ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธานินทร์เปิดเผยว่า ทนายความของ นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการเข้าให้ปากคำทั้งกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน และการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ของ อภ.อย่างไม่มีกำหนด เนื่องจาก นพ.วิฑิตมีอาการป่วยกะทันหันด้วยโรคลำไส้อักเสบต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งทางดีเอสไอได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้เลื่อนการเข้าให้ปากคำไปก่อน และในวันที่ 23 เมษายน เวลา 14.00 น. ได้เชิญ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการบริหาร อภ. มาให้ข้อมูลในประเด็นอำนาจการอนุมัติโครงการ การแก้ไขสัญญาโรงงานวัคซีน และการซ่อมแซมโรงงานผลิตยาพาราเซตามอล

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกันนี้ที่หน้าอาคารดีเอสไอ มีกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม นำโดยนายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานฯ ร่วมกันแต่งชุดดำและเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ให้ปฏิบัติหน้าที่สอบข้อเท็จจริงกรณีของ อภ.ดังกล่าวด้วยความเป็นธรรมและเป็นกลาง โดยขอให้ยุติการให้ข่าวทำลายภาพลักษณ์ของ อภ. จนกว่าผลการสอบข้อเท็จจริงจะได้ข้อยุติ เนื่องจากการให้ข่าวทั้งที่การสอบสวนข้อเท็จจริงยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วน ทำให้ อภ.ได้รับความเสียหายอย่างมาก

นายธาริตกล่าวว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว เป็นการทำงานตามขั้นตอนปกติของดีเอสไอเหมือนกับหลายเรื่องที่ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบ ข้อมูลที่เป็นข่าวหรือปรากฏผ่านสื่อเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้ปั้นเรื่องเพื่อทำลายภาพลักษณ์องค์กรใดๆ ทุกอย่างว่าไปตามข้อเท็จจริง

"การให้ข่าวว่า ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงองค์กรใด หรือรายงานความคืบหน้าในคดีที่จริงองค์กรใด หรือรายงานความคืบหน้าในคดีที่ประชาชนให้ความสำคัญ เป็นเรื่องปกติในการทำงานของดีเอสไอ แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้พยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น หากไปกล่าวหาใครหรือให้ร้ายองค์กรใดแบบไร้หลักฐาน ดีเอสไอก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย อีกอย่างเรื่องของ อภ.ที่ดีเอสไอให้ความสำคัญ เพราะบุคคลที่มาร้องเรียนคือรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นเอง ให้ตรวจสอบเพื่อความชัดเจนในประเด็นข้อสงสัย อีกทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับงบประมาณด้านสาธารณสุขของประชาชน ผมจึงคิดว่าประชาชนมีสิทธิรับรู้ และผมยังไม่เห็นว่าการให้ข่าวตรงไหนที่ไปทำลายภาพลักษณ์ของ อภ. เพราะองค์กรไม่สามารถกระทำผิดได้ แต่คนในองค์กรต่างหากที่ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบว่ากระทำผิดหรือไม่ ดังนั้น ไม่ต้องกังวล หากดีเอสไอตรวจสอบแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ จะตั้งโต๊ะแถลงว่าไม่ผิด แต่หากพบว่าผิดหรือพบข้อพิรุธ ก็ต้องบอกว่าพบ ผมว่าเราคงไม่มีสามารถปิดกั้นข้อเท็จจริงได้" นายธาริตกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่าล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้มอบข้อมูลการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ที่พบว่ามีการก่อสร้างล่าช้าเช่นเดียวกับโรงงานผลิตวัคซีน โดยมอบหมายให้ดีเอสไอตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในประเด็นบริษัทที่เข้ามารับงานก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ กับบริษัทที่เข้าซ่อมแซมโรงงานผลิตยาพาราเซตามอล อาจจะเป็นบริษัทเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และให้ดีเอสไอเข้าไปร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 เมษายน 2556