ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยนายกรัฐมนตรีไทย สนใจระบบประกันการดูแลระยะยาว ของประเทศญี่ปุ่น ให้กระทรวงสาธารณสุขนำมาปรับใช้กับไทย เน้นให้ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาพดี  ย้ำการเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุไทยจะสำเร็จ ต้องมีหน่วยสั่งการหน่วยเดียว ภายใต้เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินการบูรณาการร่วมกัน

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นกับคณะของนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคณะ โดยประเทศญี่ปุ่นได้ส่ง นายคัตสุโนริ ฮารา (Mr.Katsunori  Hara) อธิบดีสำนักสุขภาพและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ( Director General, Health and Welfare Bureau for the Elderly) และคณะผู้เชี่ยวชาญ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ ที่โรงแรมเพนนินซูลา ประเทศญี่ปุ่นว่า ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้นำเสนอถึงปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ โดยญี่ปุ่นใช้เวลาเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรสูงอายุจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 14 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาเพียง 25 ปี จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต่างจากประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ที่ใช้เวลาประมาณ 50-120 ปี    ญี่ปุ่นจึงต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลผู้สูงอายุ    จนต้องจัดให้มีระบบประกันการดูแลระยะยาว (Long Term Care Insurance) ออกเป็นกฎหมาย ให้มีการจ่ายเงินเป็นค่าประกัน เริ่มจ่ายอายุ 40 ปี แต่จะมีผลในการใช้เมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เพื่อดูแลผู้สูงอายุในการใช้ชีวิต นอกเหนือจากระบบประกันสุขภาพ (Health Care Insurance)  

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการบริการดูแลระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก คาดการณ์ว่าจำนวนเงินจะเพิ่มขึ้นมาก อาจถึงประมาณ 21 ล้านล้านเยน จึงต้องมีการจัดรูปแบบการดูแลใหม่ จากรูปแบบเดิมเน้นให้ผู้สูงอายุเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล แต่รูปแบบใหม่นี้ได้เน้นรวบรวมเอาโรงพยาบาล ชุมชน อาสาสมัคร เข้าไปดูแล คาดว่าจะสำเร็จ ในพ.ศ. 2568 เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินจำนวนมาก เพื่อเตรียมรับปี พ.ศ. 2593 ซึ่งญี่ปุ่นจะมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร  ทำให้เหลือวัยทำงานกว่า 30 เปอร์เซ็นต์  นอกจากนี้ปัญหาที่ประเทศญี่ปุ่นพบอีกก็คือ การดูแลผู้สูงอายุที่ความจำเสื่อมที่เพิ่มจาก 2 ล้านกว่าคนเมื่อ 10 ปีก่อน เป็น 5 ล้านคน โดยได้เน้นทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้อยู่ในสังคมได้  และจัดทำโครงการหาอาสาสมัครผ่านการอบรมเข้ามาดูแล  ซึ่งสามารถดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้พอสมควร

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ญี่ปุ่นให้คำแนะนำว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเร็ว ในประเทศฝรั่งเศสใช้เวลา 100 กว่าปี จึงจะมีผู้สูงอายุ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนญี่ปุ่นใช้เวลา 25 ปี    ส่วนไทยใช้เวลา 22 ปี ซึ่งน้อยกว่า จึงต้องรีบป้องกันไว้ก่อน เพราะถ้าเวลามาถึง จะเตรียมตัวปรับตัวไม่ทัน เกิดปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งประเทศไทยได้กระตุ้นเพิ่มสัดส่วนประชากรให้สมดุลกัน  คือให้มีเด็กมากขึ้น มีคนวัยหนุ่มสาว คนสูงอายุในสัดส่วนที่เหมาะสม  โดยญี่ปุ่นมีโครงการกระตุ้นให้คนสูงอายุในวัยเกษียณ  ออกมาทำงานตามเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดภาระในการดูแล 

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตระหนักและเห็นปัญหาเมื่อมีการจัดโปรแกรมการดูแลผู้สูงอายุไทย มีแนวโน้มใช้งบประมาณมาก ได้กำชับดำเนินการดังนี้ 1.จัดระบบดูแลให้ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาพดี  2.ศึกษาการทำระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ด้วยระบบการจ่ายค่าประกัน โดยนำโครงการเงินออมมาใช้ 3.ให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือสสส. สนับสนุน มีโปรแกรมเข้าไปดูแลผู้สูงอายุ 4.นำเอากองทุนสตรีมาร่วมดูแลผู้สูงอายุด้วย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าผู้หญิงเริ่มมีบทบาทเพิ่มขึ้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.จำนวนกว่า 1 ล้านคนเป็นกำลังสำคัญ ในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานในชุมชน

“ในการปรับตัวเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยนั้นจะประสบความสำเร็จ จำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างมีเอกภาพ      โดยมีหน่วยสั่งการหน่วยเดียว ภายใต้เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินการบูรณาการกัน เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายกระทรวง   จึงต้องมีกลไกในการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน หนุนเสริมกัน เนื่องจากต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

ทางด้านนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ ศาสตราจารย์ โทโมโนริ ฮาเซกาวา (Professor Tomonori Hasegawa)  ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าทุกประเทศที่มีการพัฒนาระบบสุขภาพ ต้องผ่านช่วงเวลาในการปฏิรูประบบ จากการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปสู่การเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจนสูงเกิน และจะเกิดการปฏิรูประบบสุขภาพ ในระยะเริ่มต้นจะเน้นเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย ต่อมาจะนำไปสู่ความยั่งยืน การใช้จ่ายอย่างสมเหตุผล มีคุณภาพและความปลอดภัย รวมทั้งการบริหารจัดการ   ทั้งนี้ชี้แจงว่า จากประสบการณ์ของญี่ปุ่น แพทย์และบุคลากรวิชาชีพ จะต่อต้านการปฏิรูปและมองการปฏิรูปในเชิงลบ แต่การปฏิรูปมีความจำเป็นและจะต้องทำให้ต่อเนื่อง โดยมีระบบการเมืองมั่นคง และอยู่ยาวพอที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบสุขภาพและการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยิ่งดำเนินการล่าช้า  จะยิ่งมีปัญหาอุปสรรคมาก และยิ่งปฏิรูปได้ยากลำบาก