ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากถึงสองพันล้านคน 2 ใน 3 ของจำนวนนี้อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกและในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 คน ใน 3 คน จะมีภาวะความดันโลหิตสูงเช่นกัน และยังมีคาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ.2568 (ค.ศ.2025) ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 1.56 พันล้านคน

สถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงของประเทศไทยจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากความดันโลหิตสูงถึง 3,664 คน โดยพบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงที่เข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2544 และปี 2554 พบว่าอัตราผู้ป่วยในด้วยโรคความดันโลหิตสูงต่อประชากรแสนคนเพิ่ม จาก 287.5 เป็น 1433.61 ซึ่งมีอัตราสูงขึ้นถึง 5 เท่า

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง ถือเป็น “เพชรฌฆาตเงียบ” ที่คอยคุกคามสุขภาพของประชากรทั่วโลก โรคนี้เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในแต่ละปีประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกเสียชีวิตเกือบ 8 ล้านคน ส่วนประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.5ล้านคน ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงนี้ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 50 ด้วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจ

 “ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงคือ ผู้ที่มีระดับความดันโลหิตสูงบเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ เนื่องจากเป็นโรคทีไม่ค่อยปรากฏอาการชัดเจนในช่วงแรก แต่เมื่อปล่อยนานไป โดยไม่ได้รับการดูแลรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูงจะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกายส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแดงแข็งขึ้น ลดความเร็วการไหลเวียนโลหิตและออกซิเจนไปสู่หัวใจ เป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบ (Stroke) และมีแนวโน้มของการเพิ่มการเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายตามมาได้”

ดร.นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า โรคนี้มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการบริโภครสเค็ม รับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ความอ้วน วิถีชีวิตใหม่นั่ง ๆ นอน ๆ ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่ เครียดและอายุที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 4 ระหว่าง พ.ศ. 2551-2552 พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ขึ้นไปมีภาวะความดันโลหิตสูง 11.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชายร้อยละ 60 และเป็นหญิงร้อยละ 40 ที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนและไม่รู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง มีร้อยละ 9 ทีได้รับการวินิจฉัยแต่ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงขึ้น

วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันความดันโลหิตสูง” (World Hypertension day) โดยคำขวัญรณรงค์ความดันโลหิตสูง ประจำปี 2556 คือ “ความดันโลหิตดี หัวใจเต้นดี” เน้นการป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตโรคหัวใจ โรคไต ที่มีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง การส่งข้อมูลการป้องกัน การคัดกรอง และการดูแลรักษาไปสู่สาธารณชน

กรมควบคุมโรค กระตุ้นเตือนให้ประชาชนตื่นตัว รู้ค่าความดันโลหิตของตนเอง รู้จักจังหวะการเต้นของหัวใจ และรู้จักภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนรู้จักการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง และการเกิดภาวะหัวใจสั่นพริ้ว ด้วยการใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสหวานน้อย ลดการรับประทานอาหาร จำพวกอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง จำกัดการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่

หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ โรคความดันโลหิตสูงสอบถามที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา : คมชัดลึก ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)