ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ณ ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบตามมติคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ที่มีมติว่าในขณะนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง โดยตัดคำว่า"วัน" ออกจากประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามข้อเสนอของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ด้วยเหตุผล 6 ประการ คือ (1) ยังไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้เหมือนบางประเทศ ถึงแม้ว่ากฎหมายแรงงานของไทยที่มีใช้บังคับในขณะนี้ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายกองทุนประกันสังคม  กฎหมายกองทุนเงินทดแทน  กฎหมายแรงงานสัมพันธ์  เป็นต้นจะให้ความคุ้มครองลูกจ้างทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าจะทำงานเต็มเวลาปกติ(Full Time) หรือทำงานบางช่วงเวลา (Part Time) แต่ก็ยังไม่ได้มีการออกข้อกำหนดหรือคำนิยามเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างงานบางช่วงเวลากับงานเต็มเวลาปกติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน (2) ยังไม่มีการออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานสำหรับคนที่ทำงานบางช่วงเวลา (Part Time) ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ชัดเจนว่าจะบังคับใช้หรือไม่บังคับใช้ในเรื่องใดบ้าง หากมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงไปก่อน  จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาในเรื่องการบังคับใช้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมการก่อนในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จเสียก่อน (3) อาจจะส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะอาจต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาและออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นการบังคับใช้ข้อกฎหมายในบางมาตราของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กับคนทำงานบางช่วงเวลา (Part Time) เช่น การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในการจ้างงานชายและหญิง การประกาศเวลาทำงานปกติ (มาตรา 23) การกำหนดค่าจ้างค่าล่วงเวลา (มาตรา 53) ค่าชดเชย (มาตรา 118) เป็นต้น กระทบต่อสภาพการจ้างที่มีอยู่แล้ว กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณและโทษที่จะเกิดขึ้นกับนายจ้างและลูกจ้าง และอาจทำให้ลูกจ้างไม่มีความมั่นคงในการทำงาน (4) ควรมีการแยกประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงออกจากประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (กำหนดค่าจ้างเป็นวัน) เพราะลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายชั่วโมงจะมีการสภาพการจ้างงานแตกต่างกัน (5)การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงจะมีผลกระทบเชิงบวกต่อบางประเภทกิจการ เช่น ภาคบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจแปรรูปอาหารสัตว์ทะเล (ล้งกุ้ง) เป็นต้น เพราะนายจ้างสามารถเลือกจ้างงานในช่วงเวลาที่ต้องการได้ช่วยลดต้นทุน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงที่มีงาน

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันที่ 25 มิถุนายน 2556