ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สุดท้ายตำนาน "คดีคอมพ์ 900 ล้าน"หรือโครงการประกวดราคาจัดซื้อและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารข้อมูล ข่าวสาร ด้านการเงินการคลังและข้อมูลโรงพยาบาลจำนวน 818 แห่งทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พ.ศ.2547 ก็ปิดฉากด้วยมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

หลังจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการ จนเป็นที่มาของการพิจารณาคดีการร้องเรียน "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ. กับพวกรวม 16 คน ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กรณียกเลิกโครงการประกวดราคาระบบคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีมูลค่า 821 ล้านบาท โดย ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ 8 เสียง ให้ยกคำร้อง ในประเด็นการกล่าวหานักการเมืองที่ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรี สธ. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรี สธ. และ นายอุดมเดช รัตนเสถียร เลขานุการรัฐมนตรี สธ. ในขณะนั้น เนื่องจากไม่พบว่ามีพฤติกรรมที่เข้าใจว่าเป็นการกลั่นแกล้งข้าราชการประจำให้ต้องมีการยกเลิกโครงการ รวมไปถึงกลั่นแกล้งบริษัทกิจการร่วมค้า พีสแควร์ ไทยคอม ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดให้ไม่ได้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาในโครงการดังกล่าว

งานนี้ที่ดีใจสุดหนีไม่พ้น "คุณหญิงสุดารัตน์" และข้าราชการที่ถูกสอบ มี นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรี สธ. ซึ่งขณะนั้นเป็นปลัดกระทรวง และเป็นผู้อนุมัติยกเลิกการประกวดราคา อีกทั้งยังมีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 เสียง ว่าการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาไม่มีมูลความผิด ให้ยกคำร้องเช่นกัน

กลายเป็นว่าคดีความขัดแย้งของข้าราชการฝ่ายการเมือง นำโดย "คุณหญิงสุดารัตน์" และข้าราชการประจำ นำโดย นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัด สธ.ขณะนั้น จบลง! หลังจากกินเวลามาเกือบ 10 ปี เริ่มตั้งแต่คุณหญิงสุดารัตน์ สั่งย้าย นพ.วัลลภ ออกจากปลัด สธ.ไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่มีประสิทธิภาพการทำงาน โดย นพ.วัลลภ ตัดสินใจลาออกทันที จนมีกระแสลือหนาหู ณ ขณะนั้นว่า การย้ายครั้งนี้มาจากการไม่ยอมยกเลิกการประกวดราคากับบริษัทคู่กรณีหรือไม่ ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ ให้เหตุผลการยกเลิกโครงการว่า เป็นการประกวดราคาที่รัฐเสียผลประโยชน์ เนื่องจากสเปกคอมพิวเตอร์ต่ำกว่ากำหนด

กระทั่งความขัดแย้งเริ่มคุกรุ่น จนคดีดังกล่าวมีการยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้พิจารณานั่นเอง และไม่จบสิ้น เพราะ ป.ป.ช.สมัยนั้นได้แต่งตั้ง ภก.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ แต่เกิดปัญหาที่คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่า ภก.ภักดี ไม่เหมาะสม มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง หรือทีโออาร์ของเรื่องดังกล่าว จึงร้องเรียนไปผู้ตรวจการแผ่นดิน แม้จะไม่เป็นผล แต่สุดท้าย ภก.ภักดี ก็ถอนตัวออกเสียเอง

เมื่อฝ่ายที่ถูกสังคมตั้งคำถามมาตลอดเกือบ 10 ปีหลุดพ้นข้อกล่าวหา งานนี้ไม่จบแน่ๆ คงมีการฟ้องร้องคู่กรณีอีก หลังจากเมื่อไม่นานมานี้ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หนึ่งในกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ซึ่งปัจจุบันเป็นรองปลัด สธ. ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับอดีตผู้อำนวยการเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานปลัด สธ. ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานการให้คะแนนบริษัท ผู้เสนอซองประกวดราคา โดยพบว่าคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา รายงานข้อมูลไม่จริง มีการกดคะแนนจากจริงๆ 94 คะแนน เหลือ 80 คะแนน ทำให้บริษัทไม่ผ่านนั่นเอง ร้อนถึง นพ.ชาญวิทย์ ต้องยื่นฟ้องศาลอาญา แว่วว่าคู่กรณีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ นอกจากนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ ยังฟ้องร้องหมิ่นประมาท นพ.วัลลภ ต่อศาลชั้นต้นที่ระบุว่ามีการเอ่ยชื่ออักษรย่อ ให้คนเข้าใจว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ ทั้งๆ ที่การย้าย นพ.วัลลภ จากปลัด สธ.ไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสุดท้ายศาลพิจารณาว่าไม่ผิด

นพ.ชาญวิทย์กล่าวว่า ในสมัยที่ตนเป็นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ถูกสอบว่าทำงานมิชอบ เพราะมีคนกล่าวหาว่ากรรมการให้คะแนนเท็จ เพราะมีคนไปให้ข้อมูลเท็จ กับ ป.ป.ช. ซึ่งคนให้ข้อมูลกลับให้คะแนนตรงข้ามกับความเป็นจริง คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯจึงยื่นฟ้องสำนักงานอัยการสูงสุดให้พิจารณาคนทำข้อมูลเท็จดังกล่าว ซึ่งผ่านศาลขั้นต้นว่าเป็นคณะกรรมการดำเนินการถูก แต่ล่าสุดคู่กรณีได้ยื่นอุทธรณ์ แต่ข้อเท็จจริงก็เป็นข้อเท็จจริง

"จากมติดังกล่าวถือเป็นฟ้าเปิด ทำให้ผมรู้สึกว่าความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย และจากนี้ไปการทำงานของผมจะเป็นอิสระขึ้น เพราะเดิมทีเมื่อใครจะมอบหมายงานอะไรก็กังวลจะติดข้อครหาหรือไม่ ตอนนี้ทุกอย่างกระจ่างแล้ว และส่วนตัวผมก็ให้อภัยกับทุกคน แต่คงต้องมีการพูดคุยกับกรรมการท่านอื่นๆ ว่า จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร เพราะเกรงว่าจะเป็นบรรทัดฐานให้ข้าราชการไม่กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่การยกเลิกโครงการเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ" นพ.ชาญวิทย์กล่าว และว่า เป็นเวลาเกือบ 10 ปี ที่ถูกตรวจสอบมาตลอด ตอนนี้ทุกอย่างชัดเจน ส่วนจะฟ้องร้องกลับใครอีกหรือไม่ ขอหารือกับทางกรรมการก่อน เนื่องจากต้องพิจารณาว่า หากมีการฟ้องกลับอาจช่วยให้เป็นบรรทัดฐานที่ดีในเรื่องของระบบราชการว่า สิ่งไหนถูกต้องสิ่งไหนไม่ถูกต้องก็ต้องดำเนินการ อย่าเกรงกลัวใดๆ

แหล่งข่าว สธ.ให้ข้อมูลว่า มีการตั้งข้อสังเกตมติ ป.ป.ช. ที่ออกมาไม่มีฝ่ายข้าราชการการเมืองเกี่ยวข้อง โดยสงสัยว่า ตามระเบียบการอนุมัติโครงการที่ใช้งบประมาณเกิน 100 ล้าน จะต้องให้ระดับรัฐมนตรีลงนามอนุมัติ แม้โครงการนี้จะยังไม่จัดซื้อจัดจ้าง แต่ด้วยงบฯมหาศาล รัฐมนตรีต้องทราบ ต้องทำงานร่วมกัน แต่เพราะเหตุใดมติจึงออกมา 8 ต่อ 0 ยกคำร้องฝ่ายการเมือง   ซึ่งจริงๆ แล้วน่าจะมีการท้วงติงบ้าง ทำให้เดาไม่ยากว่าในส่วนการกล่าวหา นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะอดีตรองปลัด สธ. และประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการประกวดราคาซื้อและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ปี 2547 สมัยนั้น รวมถึง นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค และรักษาราชการแทนปลัด สธ. และ นพ. บุญเลิศ ลิ้มทองกุล อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวง ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติเลื่อนการพิจารณาออกไป จะมีข้อสรุปอย่างไร

เป็นอีกตำนานที่ข้าราชการประจำยากจะลืมเลือน...

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 กรกฎาคม 2556