ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพกายและจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบเจ็บป่วยทั่วไป เช่น น้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย กว่า 36,000 ราย และคัดกรองสุขภาพจิตกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม จำนวน 3,032 รายใน 32 จังหวัด พบเครียด 160 ราย ในจำนวนนี้เครียดสูง 24 ราย ต้องดูแลใกล้ชิด แนะผู้ประสบภัยอย่าอยู่คนเดียว ขอให้หาเพื่อนคุยปรับทุกข์กับคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน จะช่วยเพิ่มกำลังใจและคลายความวิตกกังวลได้ หากเครียด นอนไม่หลับ ให้พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (1 ตุลาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพกายและด้านจิตใจ ตั้งแต่วันที่ 17 - 30 กันยายน 2556 ให้บริการแล้ว 896 ครั้งพบผู้เจ็บป่วย 36,634 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคทั่วไป มากที่สุดคือน้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย และปวดศีรษะ ไม่มีรายใดอาการรุนแรง และไม่พบการระบาดของโรคติดต่อ และออกเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัยตามหมู่บ้านชุมชนต่างๆ 46,117 ราย

อย่างไรก็ตามในระยะหลังนี้ บางพื้นที่เริ่มมีปัญหาน้ำเน่าเสียจากน้ำท่วมขังนานหลายวัน ทำให้ผู้ประสบภัยเป็นโรคน้ำกัดเท้า จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หากจำเป็นขอให้รีบชำระล้างร่างกายให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วมือนิ้วเท้า แต่หากเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้ว มีอาการผิวหนังเปื่อย ลอก แดง คัน แสบ ขอให้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งจะมียารักษาโรคน้ำกัดเท้าแจกฟรี ขณะนี้ได้ส่งไปยังพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 195,000 ชุด และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 300,000 ชุด

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในช่วง 2 สัปดาห์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา ให้การดูแลด้านจิตใจผู้ประสบภัยเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตให้มากที่สุด โดยเน้นหนักใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยจิตเวชเดิมเพื่อป้องกันปัญหาขาดยา 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น มะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ 3.ผู้สูงอายุและผู้พิการ และ4.ผู้ที่สูญเสียอย่างมาก ทั้งด้านทรัพย์สิน มีผู้ใกล้ชิดเสียชีวิตจากน้ำท่วม เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้จะเกิดปัญหาง่าย เพราะมีปัญหาทางจิตใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อประสบปัญหาจะกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายและมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งผลการประเมินทางจิตจำนวน 3,032 รายใน 32 จังหวัด พบผู้มีความเครียดทั้งหมด 160 ราย ในจำนวนนี้เครียดในระดับสูง 24 ราย ให้ทีมเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาซึมเศร้าหรือการทำร้ายตัวเอง และจะส่งเจ้าหน้าที่ติดตามดูแลสุขภาพจิตครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 26 รายและผู้สูญหายอีก 1 รายด้วย

ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการลดผลกระทบด้านจิตใจ ขอให้ผู้ประสบภัย ยอมรับว่าภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ขอให้สำรวจและวางแผนแก้ไขความเสียหายให้เป็นขั้นตอน โดยแก้ไขเรื่องง่ายและมีความจำเป็นไปก่อน ในระหว่างนี้อย่าเก็บตัวอยู่ในบ้านคนเดียว ขอให้หาเพื่อนคุยปรับทุกข์ เช่นคนในครอบครัว หรือเพื่อนบ้าน เพื่อจะได้ทราบว่าปัญหาไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว การพูดคุยจะช่วยเพิ่มกำลังใจและคลายความวิตกกังวลลงได้ และขอให้ออกกำลังกายในช่วงน้ำท่วม เช่น กายบริหาร ยืดเหยียดแขนขา จะช่วยสลัดความเบื่อหน่ายและความเมื่อยล้าลงได้ หากิจกรรมทำเพื่อลดความฟุ้งซ่าน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำงานฝีมือที่ชอบ และขอให้ญาติยึดหลัก 3 ประการในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ป่วยเรื้อรังทางกายอื่นๆ ได้แก่ 1.ช่วยกันให้กำลังใจ 2.อย่าให้ขาดยา และ3.อย่าทอดทิ้งกัน เพื่อป้องกันอาการกำเริบ ทั้งนี้หากผู้ประสบภัยรู้สึกเครียด วิตกกังวลมาก นอนไม่หลับ ขอให้พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือโทรปรึกษา สายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง