ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล ต้องเน้นสมดุลทั้งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และด้านจิตใจ ซึ่งปัจจุบันกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบันให้น้ำหนักกับการใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหลัก จนให้ความสำคัญด้านจิตใจของคนไข้น้อยลง มองในส่วนขององค์ความรู้ของผู้รักษาเป็นฐาน การใส่ใจความรู้สึกของผู้ป่วยน้อยลง ทั้งๆ ที่ตอนเรียนทุกคนรู้ว่าต้องมีความสมดุล 2 ฝ่าย แต่ระบบต่างๆ เอื้อให้ดำเนินไปในทิศทางของการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในการรักษามากกว่า

ประธานบอร์ด สรพ.กล่าวอีกว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักในเรื่องของการให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจหรือความรู้สึกของคนไข้ให้มากขึ้น โดย สรพ.มีการดำเนินโครงการ "สร้างเสริมมิติจิตตปัญญาสู่ระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน (Spiritual Health care Appreciation) หรือ SHA ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้านมิติจิตใจ ดูแลด้วยความรักเข้าใจถึงจิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อนของผู้ป่วยแต่ละคนในการดูแลคนไข้ระบบบริการสาธารณสุข ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรอง คุณภาพสถานพยาบาลกว่า 500 แห่ง จากทั้งหมด 1,300 แห่ง หรือคิดเป็น 46% เข้าร่วมเสริมสร้างมิติด้านจิตใจด้วยความสมัครใจและจะขยายผลอีกปีละ 100 แห่ง โดยดำเนินการผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันและกัน และจัดเครือข่ายบริการสุขภาพ ส่งผลให้บุคลากรเข้าใจตัวเองเข้าใจเพื่อนร่วมงาน และเข้าใจจิตใจความรู้สึกของผู้ป่วย

"หากโรงพยาบาลต่างๆ ให้ความสำคัญต่อการดูแลคนไข้ด้วยมิติด้านจิต น่าจะเป็นปัจจัยหลักสร้างความเข้าใจ ความพึงพอใจ ศรัทธา ความไว้วางใจ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับ ผู้ป่วย ทำให้คนไข้เข้าใจการทำงานของแพทย์และ บุคลากรทางการแพทย์ว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์อย่างไร ขณะเดียวกันพยายามดูแลผู้ป่วยอย่างไร จะเกื้อกัน ระหว่างคนไข้และผู้ให้บริการการรักษา จะทำให้คุณภาพของการรักษาพยาบาล ความพึงพอใจของคนไข้ ความเข้าใจของคนไข้และญาติที่มีต่อผู้ให้บริการดีขึ้น" นพ.ศุภชัยกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก