ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“กลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์” ประกาศปฏิรูปแพทยสภา หากได้รับเลือกตั้ง กก.แพทยสภา เน้นการทำงานแบบกัลยาณมิตร เดินหน้าดัน พ.ร.บ.ลดความขัดแย้งแพทย์-ผู้ป่วย เสนอจัดตั้ง “กองทุนกลาง” ทำหน้าที่เหมือนกองทุนประกันภัยรถยนต์ ชดเชยความเสียหายจากการรับบริการรักษา ห้ามฟ้องแพทย์ แต่ให้ฟ้องร้องกองทุนกลางแทน พร้อมสนับสนุนสร้างความก้าวหน้าวิชาชีพ ขยายการอบรมและเรียนต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตกับแพทย์

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ 

8 ธ.ค.57 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ประธานกลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์ กล่าวว่า ในการลงแข่งขันรับสมัครเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาของกลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์นั้น เนื่องจากเราต้องการเห็นแพทยสภาปรับเปลี่ยนและเข้าใจบทบาท ในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งได้รับความไว้วางใจจากสังคมให้เป็นผู้ทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนในด้านการรักษาพยาบาล เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพ โดยเน้นการปรับทัศนคติการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างกัลยาณมิตร ในรูปแบบของการพูดคุยและรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน นอกจากการดูแลแพทย์ในวิชาชีพด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมที่เป็นการปกป้องเกียรติศักดิ์ศรีวิชาชีพแพทย์       

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ด้วยหลักการดังกล่าว จึงนำมาสู่การกำหนดนโยบายของกลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์ โดยอันดับแรกคือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ให้อยู่บนรากฐานความเข้าใจ ไม่ใช่ขัดแย้งฟ้องร้อง ซึ่งเป็นเรื่องด่วนที่ต้องแก้ไข ซึ่งเราสนับสนุนให้มีระบบการบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล ทั้งในฝั่งผู้ป่วย รวมถึงแพทย์และพยาบาล ในการออกกฎหมายที่มีการจัดตั้งกองทุนกลางในการชดเชยความเสียหายกรณีสุดวิสัยทางการแพทย์ ที่เป็นกลไกกลางทำให้ผู้ป่วยและแพทย์ไม่ต้องขัดแย้งและฟ้องร้องกัน เช่นเดียวกับระบบประกันภัยรถยนต์ที่มีกองทุนกลาง พร้อมกันนี้ต้องไม่มีการดำเนินคดีกับแพทย์ที่ให้การรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยกรณีต้องการฟ้องร้องให้ฟ้องร้องกับกองทุนกลางแทน

ทั้งนี้การเสนอให้ออกเป็น พ.ร.บ.นั้น เนื่องจากการขยาย ม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จะมีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นกฎหมายที่คุ้มครองเฉพาะผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงข้าราชการ ประกันสังคม และผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายยังมีความยุ่งยาก ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ อาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้

ต่อมาคือการเร่งรัดพิจารณาข้อร้องเรียน โดยเฉพาะด้านจริยธรรมแพทย์ให้รวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองแพทย์ที่ทำงานในวิชาชีพตามกรอบมาตรฐานที่ดี ขณะเดียวกันยังเป็นการให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล โดยจะมีการพัฒนากระบวนการพิจารณาให้รวดเร็วและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่งผลให้แพทย์ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนในการรักษา ไม่ให้อยู่บนความระแวงซึ่งกันและกัน, การกระจายกระบวนการทำงานของแพทยสภาเพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับแพทย์สมาชิกและประชาชนมากที่สุด โดยจะมีการจัดตั้งกรรมการแพทยสภาส่วนภูมิภาค เพื่อให้มีการติดตามและส่งเสริมการดูแลด้านจริยธรรมของแพทย์

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกันในด้านการดูแลวิชาชีพแพทย์นั้น กลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์มีนโยบายส่งเสริมที่ไม่เพียงแต่พัฒนาการดำเนินวิชาชีพแพทย์ให้เกิดก้าวหน้า แต่ยังมุ่งการสร้างความเป็นธรรมให้กับวิชาชีพแพทย์ โดยจะส่งเสริมให้มีการปฏิรูปแพทยสภาศึกษาโดยร่วมกับกลุ่มแพทย์สถาบัน และสภาวิชาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ไม่เฉพาะปัจจุบันแต่ต้องมองไปยังถึงอนาคต ที่ไม่เพียงแต่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของประเทศ แต่ต้องสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาชีพและการศึกษาต่อของแพทย์ด้วย โดยจะมีการขยายกรอบข้อจำกัดเพื่อให้สามารถเข้าศึกษาเพิ่มเติมได้ พร้อมกันนี้จะดึงโรงพยาบาลเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนที่เป็นการคืนกำไรให้สังคมโดยไม่มุ่งหวังผลกำไร การพัฒนาฝึกอบรมแพทย์ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากในด้านการศึกษาแล้ว ยังส่งเสริมในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตแพทย์ให้เกิดความสมดุลทั้งการประกอบวิชาชีพแพทย์ สังคมและชีวิตส่วนตัว เพราะต้องยอมรับว่าแพทย์เป็นวิชาชีพที่ทำงานหนักตลอดเวลา จนเบียดบังเวลาชีวิตในส่วนอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องทำให้แพทย์มีความสมดุลในการใช้ชีวิตด้วย โดยเฉพาะในส่วนของแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งมีค่าตอบแทนต่ำ ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ต้องทำงานในโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มเติม ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การเรียนต่อ และยังเกิดความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย ดังนั้นมองว่ารัฐบาลน่าจะอุดหนุนเพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์กลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถมุ่งศึกษา และทำงานได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ในส่วนของแพทย์ที่จบใหม่ จะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีการจัดส่งแพทย์เหล่านี้ไปทำงานยังโรงพยาบาลที่มีแพทย์พี่เลี้ยงจริงๆ ไม่ใช่ปล่อยไปทำงานเองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้แพทย์ส่วนใหญ่มีความต้องการในการพัฒนาวิชาชีพตนเอง ดังนั้นแพทยสภาต้องเพิ่มโอกาสและขยายการเข้าเรียนอย่างเป็นธรรม โดยจุดนี้เรามองไปยังค่าตอบแทน ซึ่งหากเพียงพอในการเลี้ยงครอบครัว จะทำให้แพทย์เลือกไม่ไปทำงานนอกเวลายังโรงพยาบาลเอกชนเพื่อหารายได้เสริมได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ จึงไม่ใช่การกำหนดจำกัดกรอบเวลาการทำงาน เพราะหากแพทย์ไปทำงานยังโรงพยาบาลเอกชนจะยิ่งมีปัญหาไปกันใหญ่

“ในการลงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาครั้งนี้จะได้รับเลือกหรือไม่นั้น ถือว่ากลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์ได้แสดงจุดยืนแล้ว มั่นใจว่าแพทย์ส่วนใหญ่ต่างรักษาในเกียรติยศและศักดิ์ศรีของวิชาชีพแพทย์ การเข้าเรียนแพทย์ก็เพื่อต้องการดูแลรักษาประชาชนในยามเจ็บป่วย จึงได้รับเกียรติและความไว้วางใจ แต่ขณะเดียวกันแพทย์ต้องมีความสุขและมั่นใจในการทำงานด้วย ดังนั้นแนวคิดที่ทางกลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์นำเสนอน่าจะสอดคล้องกับความรู้สึกของแพทย์ส่วนใหญ่ ซึ่งขอเคารพในการตัดสินใจ” ประธานกลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์ กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (1)

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (2) นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ “คุ้มครองแพทย์-เป็นประโยชน์ประชาชน”

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (4) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา : พลังแพทย์ ขอโอกาสพัฒนาวิชาชีพแพทย์

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (5) หนุน ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม วาระนายกแพทยสภาไม่เกิน 2 สมัย

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (จบ) เชื่อเลือกตั้งกก.แพทยสภาครั้งนี้ เป็นโอกาสปฏิรูปแก้ขัดแย้งได้