ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : กรมควบคุมโรคเผยครั้งแรกของโลก เจออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ ปกติพบในอาหารทะเล สอบสวนโรคเจอปนเปื้อน ทั้งขั้นตอนขนส่งเลือดต้ม ในโรงงานที่เป็นเลือดดิบ ระบุแช่เลือดมีเชื้ออ่อนๆ ในน้ำเกลือกระตุ้นเชื้อเพิ่มขึ้น ย้ำหากบริโภคควรปรุงสุก ให้ถูกวิธี ขณะที่กรมปศุสัตว์สั่งงดนำเลือดไก่ออกมาจำหน่ายเพื่อบริโภค รวมทั้งให้เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป แต่ยังไม่สั่งให้ปิดโรงงาน เตรียมแถลงชี้แจงวันนี้

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) เปิดเผยวานนี้(14 ม.ค.) กรณีการตรวจ พบเชื้ออหิวาต์เทียม หรือเชื้อวิบริโอ พาราฮิโม ไลติคัส(Vibrio parahaemolyticus) ในเลือดไก่ว่า ขอย้ำว่ามีการพบเชื้ออหิวาต์เทียมเฉพาะในเลือดไก่เท่านั้น ส่วนเนื้อไก่และข้าวมันไก่สามารถรับประทานได้ตามปกติ

เขากล่าวว่า สำหรับเลือดไก่ ประชาชนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเลือดไก่ที่วางขายตามท้องตลาดถูกทำให้สุกมาแล้วและที่สำคัญผู้บริโภคต้องการรับประทานเลือดที่มีลักษณะนิ่ม จึงไม่นิยมนำไปต้มซ้ำอีกครั้งก่อนบริโภค จึงแนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการรับประทานเลือดไก่ ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคที่ถูกวิธี โดยต้มด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 75 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที

อธิบดี คร. กล่าวต่อว่า ที่สำคัญผู้ที่สับไก่ต้องปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหาร เช่น มือเป็นแผลไม่ควรสับไก่ขาย ไม่ทิ้งวัตถุดิบให้ค้างมื้อ และแยกเขียงกับมีดสำหรับหั่นเลือดไก่ต่างหาก ในกรณีเป็นการสับไก่ต้มเพื่อเสิร์ฟสำหรับการรับประทานต้องใส่ถุงมือพลาสติก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ

ย้ำปรุงสุกถูกวิธีรับประทานได้

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้มีการประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ที่ได้ดำเนินการสั่งปิดโรงงานที่ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อในเลือดไก่แล้ว 1 แห่ง และมีการสุ่มตรวจอีก 27 แห่ง

ส่วนร้านค้าข้าวมันไก่ ประสานกรมอนามัยเข้าไปแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขลักษณะ แนะนำการปรุงที่ถูกวิธี สำหรับประชาชนทั่วไปยังสามารถรับประทานข้าวมันไก่ เนื้อไก่ หรือเลือดไก่ที่ต้มสุกได้ ซึ่งเลือดไก่ที่ต้มสุกดีจะมีสีที่เข้ม และเนื้อแข็งกว่าเลือดไก่ที่สุกไม่ดี ที่มีสีแดงๆ กลิ่นคาวและเนื้อนิ่มหยุ่น

"ปกติเชื้ออหิวาต์เทียมจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยชอบน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ส่วนใหญ่จึงพบการปนเปื้อนในหอย กุ้ง เช่น หอยแครงหรือหอยแมลงภู่ที่ลวกไม่สุก การที่เชื้อนี้จะมาปนเปื้อนในไก่ไม่ใช่เรื่องง่าย นับเป็นครั้งแรกของโลกที่สอบสวนและตรวจสอบแล้วพบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ในเลือดไก่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบต่อไปว่าเชื้อนี้มาปนเปื้อนในเลือดไก่ได้อย่างไร" นพ.โอภาส กล่าว

เผยที่มาเลือดไก่ติดเชื้อ

พญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรมป้องกันสาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องนี้ตรวจพบจากการที่ทีมระบาดวิทยาสอบสวนโรคกรณีนักเรียนท้องเสียเข้าโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือ โดยพบว่าเกิดจากสาเหตุซ้ำๆ คือการรับประทานข้าวมันไก่ จึงเข้าที่ร้านข้าวมันไก่จนพบเชื้ออหิวาต์เทียมปนเปื้อนในเลือดไก่ที่นำมาทำข้าวมันไก่

เธอกล่าวต่อว่า สอบสวนต่อไปยังร้านค้าในตลาดที่ขายเลือดเก่า รถที่ขนส่ง และโรงงานผลิตก็ล้วนพบเชื้อนี้ทั้งสิ้น โดยที่โรงงานพบทั้งในเลือดที่ต้มสุกแล้วและเลือดสดๆ ดิบๆ ที่ใช้รางรอรับจากคอไก่ เท่ากับว่าเลือดไก่มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ตั้งแต่เป็นเลือดดิบ

พญ.ดารินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการสอบสวนว่าเกิดการปนเปื้อนของเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ในโรงงานผลิตได้อย่างไร เนื่องจากปกติเชื้อชนิดนี้จะพบในอาหารทะเลเป็นส่วนใหญ่

"จากการตรวจสอบที่โรงงาน พบว่าในการต้มเลือดไก่ใช้อุณหภูมิ 70-80 องศาเซลเซียส ใช้เวลาสั้นๆ ทำให้สุกไม่ถึงใจกลางก้อนเลือดไก่ เชื้อที่ปนเปื้อนมาจึงยังคงอยู่ในเลือดไก่ ประกอบกับในขั้นตอนของการขนส่ง จะเก็บเลือดในน้ำเกลือ ซึ่งเป็นลักษณะสภาพแวดล้อมที่เชื้อชนิดนี้ชอบ คือ มีความเค็ม ทำให้เชื้อที่หลงเหลืออยู่เติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกได้ เมื่อประชาชนซื้อไปรับประทานแล้วไม่ต้มซ้ำให้สุกจริงๆ จึงมีโอกาสได้รับเชื้อ" พญ.ดารินทร์ กล่าว

ติดอหิวาต์เทียมอาการดีขึ้นใน 3 วัน

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า อาการของอหิวาต์เทียมจะมีอาการป่วย อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีไข้หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการที่น้อยกว่าเชื้ออหิวาต์แท้ที่เกิดจากเชื้อวิบริโอ คลอเรลลา (Vibrio Cholera) ที่ปัจจุบันพบผู้ป่วยน้อยมากในประเทศไทย ส่วนอหิวาต์เทียมอาการจะดีขึ้นภายใน 3 วัน มีอัตราเสียชีวิตน้อยกว่า 1 ต่อ 1,000

ปศุสัตว์โต้ปิดโรงงานไก่-ชี้แจงวันนี้

วันเดียวกัน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งให้ปิดโรงงานชำแหละและแปรรูปไก่แต่อย่างใด เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีโรคระบาดอย่างรุนแรง ยกเว้นในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้พบผู้ป่วยที่สงสัยว่าท้องเสียเพราะรัปประทานเลือดไก่ในข้าวมันไก่

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ออกคำสั่งไปยังสัตวแพทย์ประจำทุกโรงงานให้งดนำเลือดออกมาจำหน่ายเพื่อการบริโภค รวมทั้งให้เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื้อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป และในวันนี้ (15 ม.ค.) จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการที่โรงแรมสุโกศล

"การผลิตไก่ของไทยมีมาตรฐานที่ยอมรับของสากลดังนั้นเมื่อมีเหตุระบาดของโรค จะต้องมีการรายงานทุกครั้ง จะปิดบังไม่ได้ กรณีที่ต้องปิดโรงงานเพื่อตรวจสอบนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากน่าตกใจและจะกระทบกับการส่งออก"นายสรวิศ กล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 มกราคม 2558