ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาธารณสุขชุมชน ประวัติศาสตร์และความทรงจำ หนังสือที่รวบรวมบันทึกรายงานการสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness Seminar) ประวัติศาสตร์สุขภาพไทย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 จัดโดยสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เนื้อหาในเล่ม ประมวลเอาความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้รู้เห็น กว่า 20 คนซึ่งล้วนเป็นนายแพทย์รุ่นอาวุโสและผู้มีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุขยุคแรก อาทิเช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์ เสม พริ้มพวงแก้ว, ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ประเวศ วะสี, ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ อารี วัลยะเสวี, นายแพทย์ ไพโรจน์ นิงสานนท์, นายแพทย์ บรรลุ  ศิริพานิช, ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ ไพจิตร ปวะบุตร, นายแพทย์ มงคล ณ สงขลา, นายแพทย์ อุทัย สุดสุข, นายแพทย์ กวี ไชยศิริ, นายแพทย์ ชูชัย ศุภวงศ์, นายแพทย์ สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, นายแพทย์ สุรเกียรติ อาชานานุภาพ, นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์, รองศาสตราจารย์ ดร.เบญจา ยอดดำเนิน-แอ็ตติกจ์, ดร.สุมล ปวิตรานนท์, นายระเด่น หัสดี, ดร.เมธี จันท์จารุภรณ์

การสัมมนาได้บอกเล่าเรื่องราวตามความทรงจำเกี่ยวกับสาธารณสุขชุมชนจากยุคบุกเบิกถึงสิ้นแผนพัฒนาการสาธารณสุขฉบับที่ 5 โดยเน้นประเด็นที่ทำให้เห็นถึงความเป็นมา พัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพไทยเป็นประเด็นหลัก และพยายามเชื่อมโยงกับนโยบายสาธารณสุขไปสู่ประเด็นเชิงนโยบาย ประกอบด้วย สองประเด็นสำคัญ ได้แก่

ประเด็นการปฏิรูประบบการแพทย์และสาธารณสุขครั้งสำคัญๆ ว่าด้วยเรื่องของการปฏิรูประบบสาธารณสุขเพื่อมวลชนหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516, การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2517, การปฏิรูปสุขภาพสู่ชนบทในโครงการสาธารณสุขมูลฐาน, การปฏิรูปการจัดการระบบสุขภาพด้วยการมีส่วนร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชน, การปฏิรูปสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน และการปฏิรูปด้านวิชาการสุขภาพด้วยการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นและความคิดของผู้ร่วมก่อการของการปฏิรูประบบสุขภาพ, การทำงานด้านวิชาการของการปฏิรูประบบสุขภาพ, การทำงานด้านการสื่อสารกับสาธารณะในกระบวนการปฏิรูป, การทำงานเชื่อมโยงกับการเมืองและการผลักดันนโยบายในการปฏิรูประบบสุขภาพ, การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในกระบวนการปฏิรูป, การเคลื่อนไหวของภาควิชาชีพและบุคลากรด้านสุขภาพ, การบริหารจัดการองค์กรในการทำงานปฏิรูประบบสุขภาพ และการปฏิรูปจากรากหญ้าบทเรียนจากสมัชชาระดับต่าง ๆ

จากบันทึกรายงานการสัมมนาดังกล่าว ได้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และความทรงจำเกี่ยวกับสาธารณสุขชุมชนที่ควรค่าแก่การย้อนกลับไปมองถึงจุดเริ่มต้นและพัฒนาการของระบบสุขภาพไทยได้อย่างดียิ่ง (ติดตามรายละเอียดแต่ละเรื่องที่น่าสนใจในครั้งต่อไป)

เก็บความจาก

ทวีศักดิ์ เผือกสม (บรรณาธิการ), สาธารณสุขชุมชน ประวัติศาสตร์และความทรงจำ, หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย/สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข, 2552

ขอบคุณรูปภาพจาก

สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ  แหล่งที่มา: http://www.shi.or.th/product/68/

หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย  แหล่งที่มา:  http://www.nham.or.th/content/34/1/#_ftn4