ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งเป็นอินเตอร์มีเดียด แคร์ (Intermediate care) ทำงานร่วมกับ รพ.สต. หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในชุมชน ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ลดความพิการ ลดความแออัดเป็นโรงพยาบาลประชารัฐ

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเว็นชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรงพยาบาลชุมชน พร้อมมอบแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การบูรณาการในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงการดูแลระยะเปลี่ยนผ่านในผู้ป่วยที่มีอาการพ้นภาวะวิกฤติและมีอาการคงที่ หรืออินเตอร์มีเดียด แคร์ (Intermediate care) แก่แพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 1 - 2 คน และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนงานป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ แห่งละ 1 คน จำนวน 1,000 คน

นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประชาชนไทย ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 4 แสนกว่าคน ซึ่งร้อยละ 50 – 55 เป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยโรคดังกล่าวไปรับบริการที่โรงพยาบาลในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความแออัด ผู้ป่วยต้องรอคิวรับการรักษานาน เกิดภาระงานและภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามมา

ดังนั้นโรงพยาบาลชุมชน 780 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทั่วประเทศ จึงมีบทบาทสำคัญในดูแลสุขภาพประชาชนให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน เน้นการทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในชุมชนสร้างเสริมสุขภาพ ลดเสี่ยงเลี่ยงโรค และค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค หากเกิดโรคต้องให้บริการที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะตามมา ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

รวมทั้งการรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่มีอาการทางพ้นภาวะวิกฤติและมีอาการคงที่ (Intermediate care) กลับมาดูแลต่อที่โรงพยาบาลชุมชน เพราะนอกจากช่วยลดการนอนรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่แล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ป่วย ซึ่งบางรายอาจมีความผิดปกติของร่างกาย ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน ให้ได้รับการดูแลฟื้นฟูจากทีมหมอครอบครัวสหวิชาชีพต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจนถึงบ้าน ทั้งด้านการทำกายภาพบำบัด โภชนาการ สอนญาติในการดูแลผู้ป่วย เพื่อช่วยลดความพิการ หรือบางรายหายเป็นปกติกลับไปทำงานเป็นพลังของสังคมได้

“เน้น 3 โรคสำคัญ คือ โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่สมอง และการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง โดยโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งต้องมีเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยอินเตอร์มีเดียด แคร์ แห่งละ 2 เตียง และตั้งเป้าหมายโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งเป็นโรงพยาบาลประชารัฐในปี 2562” นพ.โสภณ กล่าว