ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 9 มีการดำเนินงานที่เข้มแข็ง มีการหมุนเวียนพยาบาลผู้ประสานการขอรับบริจาคอวัยวะจากญาติผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองตายตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ประสานขอรับบริจาคอวัยวะได้สูงสุดในระดับเขต มีผู้บริจาคอวัยวะ 29 รายจากเขตสุขภาพทั้งหมด 138 ราย

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม ผู้ตรวจราชการกระทรวง นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 4 ประธานคณะทำงานพัฒนาระบบบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะกระทรวงสาธารณสุข นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย พญ.ลิดา ปริยกนก ผู้อำนวยการศูนย์ดวงตาสภากาชาด นายอนุรุธ ว่องวานิช รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 (วปอ.) ตรวจเยี่ยมเสริมพลังการดำเนินงานการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เขตสุขภาพที่ 9

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทย และภาคีเครือข่าย ดำเนินการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจ ตับ ปอดวายระยะสุดท้าย และแก้ปัญหาความพิการของดวงตา โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตซึ่งสามารถช่วยผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้มีอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตต่ำกว่าการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง ปัญหาที่สำคัญคือ การขาดแคลนอวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่าย ทำให้มีผู้รอรับการปลูกถ่ายจำนวนมาก และบางส่วนเสียชีวิตระหว่างรอ

กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อมรับบริจาคอวัยวะและดวงตาผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย ตามแผนพัฒนาระบบบริการสาขาที่ 13 มีเป้าหมาย “เพิ่มปลูกถ่าย ลดการตาย ได้คิวเร็ว” จะเน้นการรับบริจาคอวัยวะและดวงตา พัฒนาทีมนำอวัยวะออก (Regional Harvesting Team) และพัฒนาให้มีศูนย์ปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant Center) เขตสุขภาพละอย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อสามารถดำเนินการได้ภายในเขตสุขภาพ ซึ่งเขตสุขภาพที่ 9 มีการดำเนินงานที่เข้มแข็ง มีการหมุนเวียนพยาบาลผู้ประสานการขอรับบริจาคอวัยวะจากญาติผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองตายตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ประสานขอรับบริจาคอวัยวะได้สูงสุดในระดับเขต มีผู้บริจาคอวัยวะ 29 รายจากเขตสุขภาพทั้งหมด 138 ราย

ผลการดำเนินงานรอบ 7 เดือน ปีงบประมาณ 2561 มีจำนวนผู้บริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลทั่วประเทศรวม 155 ราย ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะไปถึง 353 ราย เป็นการปลูกถ่ายไตถึง 288 ราย ในขณะที่การปลูกถ่ายกระจกตาในโครงการดวงตาสดใส เทิดไท้ 84 พรรษามหาราชินี ในรอบ 6 เดือน มีผู้ป่วยกระจกตาพิการได้รับการปลูกถ่ายดวงตา 447 ดวงตา ยังคงมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ 5,987 ราย และรอรับการปลูกถ่ายกระจกตาอีก 12,042 ราย สำหรับการปลูกถ่ายไตในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายไตสะสม 5,573 ราย ในปี 2560 มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายไต 543 ราย

“กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคอวัยวะและดวงตา เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ยังรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งเป้าหมายในปี 2561 มีจำนวนผู้ยินยอมบริจาคอวัยวะผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองตายเป็น 0.4 ต่อ 100 จำนวนผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล และผู้ยินยอมบริจาคดวงตา 1.2 ต่อ 100 จำนวนผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล” นพ.โสภณกล่าว